อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสาหัส สร้างโอกาสรอดผ่าน Travel Bubble

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสาหัส สร้างโอกาสรอดผ่าน Travel Bubble

Date Time: 6 ก.ค. 2563 05:02 น.

Summary

  • เป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3.18 ล้านล้านบาทหลุดลอยไปแล้ว ขณะที่เป้าหมายใหม่ 1.23 ล้านล้านบาทก็ยังต้องลุ้นกันหนัก เพราะตราบที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

Latest

เปิดคำตีความคณะกรรมการกฤษฎีกา “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขาดคุณสมบัติ!

ความหนักหนาสาหัสของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงขนาดที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะถอยไปเท่ากับ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นประเทศไทยเพิ่งทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะระดับ 10 ล้านคน

เมื่อเทียบกับ ถ้าไม่มีโควิด-19 เกิดขึ้น การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยตั้งเป้าทำยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2563 มากถึง 40.8 ล้านคน ภายหลังจากในปี 2562 ทำได้แตะ 39.79 ล้านคน

ตอนนี้ทุกอย่างถอยกลับมาหมด และยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประเทศไทยยังประกาศปิดน่านฟ้า แม้จะแง้มให้คนต่างชาติ 6 กลุ่มเข้าไทยได้ แต่ยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อช่วง 2 เดือนก่อนที่ประเทศไทยเริ่มคุมการระบาดได้ดี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามผลักดัน โครงการ Travel Bubble ที่มองว่าจะเป็นโอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการจับคู่กับประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดีเหมือนกัน ให้มาเที่ยวประเทศไทยได้ แต่ทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

จากที่คาดหวังว่าจะเริ่มได้ในเดือน ก.ค. ก็เลื่อนออกไปเป็นเดือน ส.ค. และจากการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชุดเล็ก ในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือว่าช่วงที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันที่ 1 ก.ย.2563

เพื่อขอประเมินการเปิดให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิด-19 ที่เปิดให้เข้ามารักษาพยาบาลในไทย อาทิ ทำศัลยกรรมหรือคลินิกผู้มีบุตรยาก ที่วางแผนไว้ว่าเมื่อรักษาอาการต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว จะอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยในลักษณะเป็นหมู่คณะ บนเส้นทางท่องเที่ยวที่กำหนดเท่านั้นก่อนถ้าประเมินแล้วไม่มีปัญหา กลุ่มชาวต่างชาติที่จะมาท่องเที่ยวตามมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงจำกัด (Travel Bubble) ถึงจะ ตามมา

ในภาวะที่ยังดำมืดเช่นนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้ขอสัมภาษณ์พิเศษ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อวินิจฉัยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จะหาทางออกและมีทางรอดได้อย่างไร?

********************

เปิดใจได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริง

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เปิดใจถึงการนั่งบนตำแหน่งเสนาบดีครั้งแรกของชีวิตว่า “ผมเข้ามาทำงานในตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริง ได้ความสุขใน 5 เดือนแรก และรับความทุกข์ใน 6 เดือนที่ผ่านมา”

ช่วง 5 เดือนแรก การทำงานเป็นออโตเมติก การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ทำงานเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ประเทศไทยได้รับความนิยมจากต่างประเทศ แต่พอวันที่ 25 ม.ค.2563 เป็นต้นมาที่มีการระบาดของโควิด-19 ทุกอย่างเป็นความทุกข์ คิดทุกวันว่าทำอย่างไร

“เราเป็นกระทรวงเล็กๆ สามารถสร้างเงินจากการท่องเที่ยวให้ประเทศเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีในปีที่แล้ว แต่มาตอนนี้พอมีปัญหาเราไม่มีเสียงแบบกระทรวงใหญ่ เพราะกระทรวงเล็กก็คือกระทรวงเล็ก จึงดูว่าทำอย่างไรให้กระทรวงเล็กแบบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกระทรวงเศรษฐกิจให้ได้ 100%”

เขากล่าวว่า ในปี 2562 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยและคนไทยเที่ยวในประเทศออกมาดี สร้างรายได้ให้ประเทศ 3.01 ล้านล้านบาท เราจึงตกลงที่จะตั้งเป้ารายได้ ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 4% เป็น 3.18 ล้านล้านบาท แต่มาถึงเวลานี้ ผมขอทำให้ได้ 1.23 ล้านล้านบาทก็ใช้ได้แล้ว

วางมาตรการ “ทราเวล บับเบิล”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มี.ค.ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก และก่อนประเทศไทยปิดน่านฟ้า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในไทย 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 332,000 ล้านบาท หลังจากนั้นมาจนถึง พ.ค.หรือจนตอนนี้ยังไม่มีเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนและรายได้ลดลง 59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เป้าหมายที่วางไว้เดิม 40.8 ล้านคนไม่ต้องพูดถึงแล้ว และมาถึงตอนนี้ผมพยายามผลักดันให้เกิดมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงจำกัด หรือทราเวล บับเบิล ให้นักท่องเที่ยวจากประเทศควบคุมการระบาดได้ดีเหมือนไทย เพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ 10 ล้านคน ผมจึงอยากให้เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ศบค.”

ประเทศที่จะทำทราเวล บับเบิลกับไทยจะเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ปลอดเชื้ออย่างน้อย 30 วันเช่นเดียวกับการปลอดเชื้อในประเทศไทยที่มากกว่า 30 วันแล้ว เช่น บางเมืองของจีน ไต้หวัน และบางเมืองของญี่ปุ่น

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาต้องตรวจโควิด-19 ที่ประเทศต้นทางก่อนว่าไม่ติดเชื้อนี้ ต้องนำใบรับรองแพทย์มาด้วย และมาตรวจซ้ำในไทย จะต้องทำประกันที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด-19 มีแอปพลิเคชันติดตามตัว หากพบการติดเชื้อระหว่างเดินทางต้องยอมรับการกักกันและรักษา

“ฝ่ายไทยจะกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นเมืองที่มีสนามบิน ได้แก่ เชียงใหม่ เกาะสมุย กระบี่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา เชียงราย หาดใหญ่ โดยช่วงแรกจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้แบบเป็นกรุ๊ปขนาดเล็กผ่านบริษัทนำเที่ยวหรือบริษัททัวร์ การท่องเที่ยวแต่ละวันต้องอยู่ในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้นจะออกนอกเส้นทางไม่ได้ จึงเป็นเหตุที่เริ่มทดลองกับกลุ่มที่มากับบริษัททัวร์ เพราะหากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตัวเอง หรือเอฟไอทีจะคุมแบบนี้ไม่ได้”

จากนั้นต้องมีการประเมินทุกระยะเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสาเหตุของการระบาดรอบที่ 2 หากไม่มีการติดเชื้อในประเทศ หรือเป็นไปอย่างราบรื่น จะเปิดระยะที่ 2 โดยขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น เปิดรับกลุ่มมากขึ้น และถ้าควบคุมได้ดี ก็เปิดระยะที่ 3 ซึ่งจะใกล้เคียงกับปกติ โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา ด้วยตัวเองหรือเอฟไอที ก็สามารถเดินทางมาได้

สาธารณสุขพื้นที่ต้องพร้อม

เขากล่าวว่า การจะเปิดแต่ละพื้นที่จะดูจากความพร้อมทางด้านสาธารณสุข เช่น จ.ภูเก็ต แจ้งว่า พร้อมตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ได้วันละ 1,000 คน

ฉะนั้น การทำทราเวล บับเบิล ของภูเก็ตก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าได้วันละ 1,000 คน

จากแนวทางที่วางแผนไว้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใน 5-7 จังหวัดที่วางแผนให้เปิดรับรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน หรืออย่างต่ำเดือนละ 150,000 คน และเมื่อประเมินแล้วไม่มีปัญหา ก็จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ทาง ททท.ได้ไปจัดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการ 2,948 คน ในจังหวัดเป้าหมายที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยว ถึงความคิดเห็นต่อมาตรการทราเวล บับเบิล มีเห็นด้วย 73.98% เห็นด้วยแต่ควรเพิ่มความเข้มงวด 10.41% และไม่เห็นด้วย15.60%

ถ้าเริ่มจากเดือน ส.ค.-ธ.ค. ก็อาจจะได้นักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.3 ล้านคน เมื่อไปรวมกับที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมเคยเข้ามาแล้วช่วงต้นปี 6.7 ล้านคน ตลอดทั้งปีนี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน แต่ช่วงเดือน ธ.ค.อาจจะมีเข้ามามากหน่อยเพราะยุโรป อเมริกา อยากหนีหนาว

“ผมจึงบอกกับ ททท.ไว้ว่า ปีนี้หากทำได้ 10 ล้านคนก็ดีแล้ว ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของปีนี้ต้องพยายามทำให้ได้ถึง 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ต้องไปเร่งให้คนไทยเที่ยวในประเทศให้ ได้ถึง 120 ล้านคน/ครั้ง ขยับขึ้นจากเดิมที่วางไว้ 100 ล้านคน/ครั้งให้ได้ เพราะมีแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ มาช่วยผลักดัน”

เปิดรับสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว เที่ยวปันสุข ประกอบด้วย แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ

ภายใต้โครงการนี้คาดหวังว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 726,127 ล้านบาท

ขณะนี้ แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกันกำลังเปิดให้ผู้ประกอบการโรงแรม โฮมสเตย์ ร้านค้า มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ส่วนประชาชนที่ต้องการรับสิทธิ์ ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ในวันที่ 15 ก.ค.2563 ผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. ทุกวัน

ภายใต้แพ็กเกจนี้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายโรงแรมที่พัก 5 ล้านคืน โดยรัฐช่วยจ่าย 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านใบ โดยผู้จองที่พักมีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุนค่าบัตรโดยสารในลักษณะการจ่ายเงินคืนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่ง และจองที่พัก 1 ห้องจะได้รับสิทธิ์บัตรโดยสารไม่เกิน 2 ใบ

พร้อมกันนี้ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยว 5 ล้านสิทธิ์ ในรูปแบบร่วมจ่าย (Co-pay) ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถชำระค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยระบบจะทำการหักเงินในส่วนที่รัฐสนับสนุน 40% ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน พร้อมกับเชื่อมไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในแอปพลิเคชันเป๋าตังของประชาชนเพื่อชำระค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวในส่วนที่เหลือ 60%

“ในแต่ละวันคนที่ลงทะเบียนจะเข้ามากี่ล้านคนก็ได้ ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นผู้วางระบบบอกว่าไม่ต้องกลัวเว็บล่ม เพราะรองรับการเข้ามาทำธุรกรรม 160,000 ครั้งต่อวินาที มากกว่าตอนทำโครงการชิม ช้อป ใช้ 10 เท่า และเคยทำระบบใหญ่สุดในโครงการเราไม่ทิ้งกัน แจกเงิน 5,000 บาท ที่มีคนเข้ามาในระบบถึง 28 ล้านคนมาแล้ว”

ตามระบบที่วางไว้เมื่อประชาชนเข้ามาลงทะเบียนแล้ว จะต้องรอรับเอสเอ็มเอสยืนยันการลงทะเบียนภายใน 3 วัน เมื่อได้รับสิทธิ์แล้วต้องรีบเข้าไปจองโรงแรม หรือโฮมสเตย์ และเครื่องบิน ใครที่มาใช้ก่อนก็จะได้รับสิทธิ์ก่อน

มอบกำลังใจพา อสม.เที่ยว

ส่วนอีกแพ็กเกจคือ กำลังใจ จะเริ่มเปิดให้บริษัทนำเที่ยวสมัครและลงทะเบียนถุงเงิน ผ่านเว็บไซต์กรุงไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.นี้

จากนั้นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะสมัครลงทะเบียน วันที่ 25 ก.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ www.เที่ยวปันสุข.ไทย

โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางข้ามจังหวัด 2 วัน 1 คืน

“ผมกำลังดูอยู่ว่าให้ท่องเที่ยวกีฬาจังหวัดร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด รวบรวมว่าในแต่ละจังหวัดจะมีกลุ่มเป้าหมายกี่คน ทั้ง อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จากนั้นบริษัททัวร์ในจังหวัดนั้นเป็นผู้จัดโปรแกรมพาเที่ยวข้ามจังหวัด ซึ่งเงินที่รัฐจ่ายให้ 2 วัน 1 คืน คนละ 2,000 บาทก็คงไปจังหวัดไกลไม่ได้ ส่วนบริษัททัวร์ในกรุงเทพฯ ก็อาจทำในจังหวัดที่อยู่รอบๆกรุงเทพฯ

แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะตอนนี้ที่โครงการยังไม่เริ่มก็พูดกันแล้วว่ามีการคิดค่าหัวคิว 500 บาทต่อคน ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วคนเที่ยวจะเหลืออะไร”


********************

จากทั้งหมดนี้ เห็นกันแล้วว่าเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3.18 ล้านล้านบาทหลุดลอยไปแล้ว ขณะที่เป้าหมายใหม่ 1.23 ล้านล้านบาทก็ยังต้องลุ้นกันหนัก เพราะตราบที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โอกาสรอดก็ยากเหลือทน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ