แม่บ้านเงินล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แม่บ้านเงินล้าน

Date Time: 3 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เดือนชนเดือน ที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมากินมาใช้ มักมีเหตุผลว่ารายได้ต่ำ เงินเดือนน้อย ภาระเยอะ ค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเงินเก็บเงินออม

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เดือนชนเดือน ที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมากินมาใช้ มักมีเหตุผลว่ารายได้ต่ำ เงินเดือนน้อย ภาระเยอะ ค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเงินเก็บเงินออม

วันนี้อยากแนะนำให้รู้จัก “แม่บ้านเงินล้าน” เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังทดท้อกับชีวิตว่า คนที่มีรายได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำมาตลอดทั้งชีวิต เขาใช้จ่าย-เก็บออมจนมีเงินล้านได้อย่างไร!!

“คุณนายพารวย” ได้พูดคุยกับ “พี่หนู...ปาริชาติ พงษ์คำ” แม่บ้านประจำที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีโอกาสเข้าโครงการให้ความรู้ด้านการเงิน Happy Money, Happy Retirement ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯชักชวนพนักงาน เอาต์ซอร์ซ ทั้งแม่บ้านช่าง รปภ. ให้เข้าร่วมโครงการ

“พี่หนู” เล่าว่า เป็นคนต่างจังหวัด มาทำงานเป็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี ได้เงินเดือน เดือนละ 1,400 บาท ส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่หมดทุกเดือน เพราะกินอยู่กับนายจ้าง ทำมาร่วม 10 ปี กระทั่งมีครอบครัวจึงลาออกด้วยเงินเดือนเดือนสุดท้าย 2,500 บาท!!

มาสมัครเป็นแม่บ้าน ก็ถูกส่งมาประจำที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ค่าจ้างรายวันค่าแรงขั้นต่ำเมื่อปี 2544 วันละ 165 บาท!! เมื่อรู้รายรับแล้ว “พี่หนู” ตั้งใจออมเงินตั้งแต่วันนั้น สิ่งแรกที่คิดคือ “ต้องใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายรับ”

เมื่อได้เงินเดือนมา “พี่หนู” กันเงินที่ต้องเก็บทันที เงินที่เหลือนำมาหาร 30 วัน เพื่อเป็นค่าอาหาร 3 มื้อ เธอจดรายรับ-รายจ่ายประจำวันละเอียดยิบ ส่วนของใช้จำเป็น เธอเข้าห้างค้าปลีกซื้อเดือนละครั้ง ให้ใช้ได้ทั้งเดือน เพราะราคาถูกและคุมค่าใช้จ่ายได้มากกว่า สิ่งสำคัญคือย้ายมาหาที่พักราคาถูกใกล้ที่ทำงาน และเดินมาทำงานเพื่อประหยัดค่าเดินทาง!!

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีเบี้ยขยันให้คนที่ไม่ลา-ไม่สาย-ไม่ขาด อีกเดือนละ 1,000 บาท และบริษัทนายจ้างให้อีก 500 บาท แน่นอน “พี่หนู” ได้เบี้ยขยันทุกเดือน และหากมีงานล่วงเวลาที่ต้องทำ “พี่หนู” จะอาสาเป็นคนแรก

เมื่อได้เข้าโครงการปี 2554–2555 “พี่หนู” จึงได้รู้ว่าการจะขยายดอกผลเงินออมให้งอกเงย ต้องนำเงินไปลงทุน เพื่อให้เงินทำงาน ดังนั้นเงินเก็บจึงถูกโยกจากบัญชีเงินฝาก ไปกระจายซื้อหน่วยลงทุน 3 กอง เน้นกองทุนรวมหุ้น เพราะหวังผลตอบแทนสูง เธอรับความเสี่ยงได้ เพราะมีเวลาลงทุนระยะยาว

“พี่หนู” วันนี้ อายุ 47 ปี มีรายได้ตกวันละ 500 บาท เดือนละ 15,000 บาท ไม่นับเบี้ยขยันอีก 1,500 บาท เช่าที่พัก รวมค่าน้ำค่าไฟตกเดือนละ 2.8-2.9 พันบาท ใช้เงินแต่ละเดือนไม่ถึง 6,000 บาท ที่เหลือเก็บเข้ากองทุนให้เงินทำงาน

ทำให้วันนี้มีเงินออมเงินลงทุนรวมๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท!! และมีที่ดินต่างจังหวัดให้ญาติพี่น้องแบ่งกันทำกินอีก 10 ไร่

“พี่หนู” บอกเคล็ดลับความสำเร็จคือต้องมีวินัย รู้รายรับ-รายจ่าย แล้วตั้งเป้าหมายว่าต้องการมีเงินเท่าไร ต้องเก็บเท่าไร เมื่อทำได้ก็ทำให้มีกำลังใจและมีแรงกระตุ้นมากขึ้น และจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเก็บเงินได้ไวกว่าคนอื่น เพราะไม่มีภาระหนี้ ไม่เคยใช้เงินมากกว่ารายรับที่ได้!!

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ