คนไทยสุดอั้นช็อปแหลก ดึงยอดรูดบัตรเครดิต มิ.ย.ติดลบแค่ 15%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยสุดอั้นช็อปแหลก ดึงยอดรูดบัตรเครดิต มิ.ย.ติดลบแค่ 15%

Date Time: 2 ก.ค. 2563 08:49 น.

Summary

  • คนไทยสุดอั้นรัฐล็อกดาวน์ ปัดฝุ่นเปิดห้างขาช็อปรูดปื๊ดไม่ยั้ง ดันยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือน มิ.ย.พุ่งพรวด ช่วยพยุงยอดใช้จ่ายครึ่งปีแรกติดลบแค่ 15% ชี้โควิด-19 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

คนไทยสุดอั้นรัฐล็อกดาวน์ ปัดฝุ่นเปิดห้างขาช็อปรูดปื๊ดไม่ยั้ง ดันยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือน มิ.ย.พุ่งพรวด ช่วยพยุงยอดใช้จ่ายครึ่งปีแรกติดลบแค่ 15% ชี้โควิด-19 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คนแห่ซื้อสินค้าผ่านช้อปปี้-ลาซาด้า เพิ่ม 1 เท่าตัว สั่งฟู้ดแพนด้า-แกร็บ พุ่ง 2-3 เท่าตัว ขณะที่คนในกลุ่มเบบี้บูม ติดใจช็อปออนไลน์-ใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้ง

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทันทีที่รัฐบาลปลดล็อกดาวน์ให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเปิดให้บริการปกติ มีลูกค้าบัตรเครดิตในเครือของกรุงศรีจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือน มิ.ย.ปรับขึ้นแรง ช่วยพยุงให้ช่วงครึ่งปีแรกมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งหมดที่ 145,000 ล้านบาท ปรับลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 300,000-310,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10-15%

“ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลล็อกดาวน์สั่งปิดศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตตกอยู่ในอาการอั้น ไม่ได้ช็อปปิ้งซื้อสินค้า และจับจ่ายใช้สอย นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปรับตัวลดลงแรงมาก แต่เมื่อรัฐบาลทยอยปลดล็อกดาวน์ให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการ ลูกค้าแห่ไปซื้อสินค้าจนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นแรง และนับจากนี้ต้องตามความร้อนแรงของการช็อปปิ้งจะยาวนานต่อเนื่องไปนานแค่ไหน”

สำหรับโควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก อีกทั้งเป็นตัวเร่งการลดใช้เงินสด มาใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น และมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากการใช้บัตรเครดิตสั่งซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ อาทิ ช้อปปี้ และลาซาด้า มียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว การสั่งซื้ออาหารดีลิเวอรีผ่านฟู้ดแพนด้า หรือแกร็บ เพิ่มขึ้นสูงถึง 2-3 เท่าตัว และสมัครใช้บริการเน็ตฟลิกซ์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

นอกจากในช่วงเกิดโควิด-19 คนในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2489-2507 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมาก มีการใช้ดิจิทัลแบงกิ้งชำระค่าสินค้าและบริการ สั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และเมื่อรัฐบาลทยอยปลดล็อกดาวน์ คนในกลุ่มนี้ยังมีความถี่ของการชำระเงินด้วยช่องทางดิจิทัล และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือเรียกได้ยอดใช้จ่ายยังไม่ตก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ปกติไม่เกิดโควิด-19 การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ทำได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าสถาบันการเงินทุ่มเงินจำนวนมาก คนในกลุ่มนี้ก็ยังใช้เงินสดเหมือนเดิม ไม่ใช้บริการช่องทางดิจิทัลของธนาคาร

นายฐากร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรุงศรีและบริษัทในเครือ มีลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล จำนวน 4 ล้านบัญชี มีวงเงินสินเชื่อ 134,000 ล้านบาท ซึ่งตามมาตรการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีลูกค้าเข้าโครงการพักชำระหนี้ไปแล้ว 100,000 ราย และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่ออายุมาตรการเยียวยาเพิ่มขึ้นอีก ประเมินว่าจะมีลูกค้าเข้าโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมด 300,000 ราย

“ในช่วง 6 เดือนแรก กรุงศรีปล่อยสินเชื่อบุคคลไปแล้ว 35,000 ล้านบาท ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลอดทั้งปี เชื่อว่าจะปล่อยสินเชื่อบุคคลได้ 65,000-70,000 ล้านบาท ลดลง 25-30% ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าลูกค้าสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเอ็นพีแอลเท่าไหร่ เพราะตามมาตรการเยียวยาให้นับเป็นหนี้ปกติ โครงการเยียวยาจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจึงจะรู้ยอดเอ็นพีแอลที่แท้จริง”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ