ถอดรหัส “งดปันผลระหว่างกาล-งดซื้อหุ้นคืน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถอดรหัส “งดปันผลระหว่างกาล-งดซื้อหุ้นคืน”

Date Time: 30 มิ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีคำสั่งขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะเวลา 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีคำสั่งขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะเวลา 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และขอให้งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” จากผลการดำเนินงานในปี 2563 และ “งดซื้อหุ้นคืน” เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็ง และรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

มาถอดรหัส “งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-งดซื้อหุ้นคืน” ธปท.มองว่า มาตรการต่างๆที่เยียวยาช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เอื้อประโยชน์ให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะมาตรการพักชำระหนี้ ไม่นับเป็นหนี้เสีย จึงยังไม่มีภาระต้องสำรองหนี้จัดชั้น

ลูกค้าทุกรายที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ดอกเบี้ยยังเดินปกติ ธนาคารพาณิชย์รับรายได้เต็มๆ อีกทั้งยอดสินเชื่อคงค้างไม่ลด ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรแน่นอน!!!

เมื่อธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากอานิสงส์ของมาตรการเยียวยา ก็ควรนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือลูกค้า หรือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ใช่นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในรูปแบบเงินปันผล หรือนำเงินไปใช้ซื้อหุ้นคืน

อีกทั้งเงินปันผลระหว่างกาลควรเลิกไปได้แล้ว ไม่เหมาะกับโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน หากครึ่งปีแรกธนาคารพาณิชย์มีกำไร นำเงินไปจ่ายปันผลระหว่างกาล แต่ครึ่งปีหลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ตลอดทั้งปีผลดำเนินงานกลายเป็นขาดทุน เงินปันผลที่จ่ายไปไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ดังนั้นควรจ่ายปันผลจากผลประกอบการทั้งปี

คราวนี้มาดูว่า...ฐานะการเงินของธนาคารปัจจุบันยังแข็งแกร่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 63 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) 18.7% สามารถรองรับหนี้เสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน

ส่วนคุณภาพของลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ที่หากจำแนกสินเชื่อออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย สินเชื่อรายใหญ่ มีสัดส่วน 27.7% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อเอสเอ็มอี สัดส่วน 35.6% และสินเชื่อรายย่อยสัดส่วน 36.8%

พบว่า สินเชื่อรายใหญ่มีหนี้เสียค่อนข้างน้อยผู้ประกอบการรายใหญ่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง มีหนี้สินต่อทุนค่อนข้างต่ำ สินเชื่อในกลุ่มนี้ได้บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 จึงทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่สร้างหนี้จนเกินตัว เชื่อว่าจะประคองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยได้

สินเชื่อเอสเอ็มอีมีหนี้เสียค่อนข้างมาก ก่อนโควิด-19 ก็เป็นหนี้เสียอยู่แล้ว ช่วงนั้นธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อ ให้วงเงิน 2-3 เท่าของหลักประกัน เมื่อเศรษฐกิจชะลอ หนี้เสียเข้ามามาก จนต้องปรับโครงสร้างหนี้ ขายหนี้ ตัดเป็นหนี้สูญ และสำรองหนี้เสีย

แต่ช่วง 4-5 ปีจนถึงปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ และกลับมาคุมเข้มเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อ ไม่ปล่อยสินเชื่อสูงกว่าหลักประกัน ที่สำคัญสินเชื่อที่ปล่อยใหม่เน้นเพิ่มวงเงินให้กับลูกค้ารายเดิม

หากธุรกิจเอสเอ็มอีไปต่อไม่ไหวจริงๆ และกลายเป็นหนี้เสีย แต่ธนาคารยังมีหลักประกันอยู่ ก็จะทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นไม่มาก

ส่วนสินเชื่อรายย่อยที่ประกอบไปด้วย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ธนาคารพาณิชย์คุมเข้มไม่ต่างกับสินเชื่อเอสเอ็มอี มีการเช็กประวัติเครดิตบูโร ใช้เครดิตสกอริ่งวิเคราะห์สินเชื่อ และเน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง รายได้ต่อเดือนมากกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งตามสถิติเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ผิดนัดชำระหนี้น้อย

ที่สำคัญสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยิ่งลูกค้าผ่อนชำระค่างวดไปนานๆ เงินต้นยิ่งลดลง ส่วนสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต ไม่มีหลักทรัพย์ประกัน แต่คนที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่รักษาเครดิต หากผิดนัดชำระ หรือติดเครดิตบูโร ก็จะทำให้ใช้บริการเงินกู้ของสถาบันการเงินได้ยากขึ้น

แต่ปัจจุบันสินเชื่อรายย่อยอยู่ในอาการช็อกไปชั่วขณะ มนุษย์เงินเดือนถูกลดรายได้ เลิกจ้าง ตกงาน ทำให้มีสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตราว 30% ของลูกค้าทั้งหมด ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่งานนี้มาตรการเยียวยาของ ธปท.เอื้อสุดๆ มีทั้งลดดอกเบี้ย พักหนี้ หากยังไม่สามารถผ่อนชำระได้ เปิดช่องให้โอนหนี้ทั้งหมดไปเป็นสินเชื่อผ่อนชำระแบบมีระยะเวลา 48-60 เดือน ดอกเบี้ย 12% ต่อปี สามารถต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้รายย่อยได้

หากโควิด-19 หวนกลับมาระบาดรอบ 2 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์อีกรอบ งานนี้ธนาคารพาณิชย์เหนื่อยแน่!!!

ประพัฒน์ เนตรอัมพร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ