ไขปริศนาเงินเฟ้อโลกในยุคก่อนและหลังโควิด–19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไขปริศนาเงินเฟ้อโลกในยุคก่อนและหลังโควิด–19

Date Time: 29 มิ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ปะทุขึ้นใหม่แล้ว ประเด็นที่มักจะถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้คือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งพบว่า หลายประเทศมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง หรือติดลบ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิเคราะห์หลายท่านเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยนอกเหนือจากประเด็นความกังวลในการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ปะทุขึ้นใหม่แล้ว ประเด็นที่มักจะถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้คือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งพบว่า หลายประเทศมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง หรือติดลบในบางประเทศ วันนี้ผู้เขียนจึงขอไขข้อสงสัยสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน และมองไปข้างหน้า

ก่อนอื่นเลย ผู้เขียนขออธิบายความหมายของเงินเฟ้อโดยสังเขปก่อนว่า เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุจาก 2 ช่องทางคือ 1) ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น หรือ 2) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศมีหน้าที่ในการดูแลให้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน (Low and stable inflation) เพราะจะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ดังที่เกิดแล้วในเวเนซุเอลาและซิมบับเว และทำให้เงินที่ถืออยู่แทบไม่มีมูลค่า

ทางตรงกันข้าม เงินฝืด คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ (ดัชนีราคาผู้บริโภคติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานานพอควร) ซึ่งเกิดจาก 2 ช่องทางเหมือนเงินเฟ้อ ทั้งความต้องการซื้อลดหรือต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ภาวะเงินฝืดที่มีสาเหตุจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่ลดลง โดยทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาเพื่อที่จะทำให้ขายได้ ดูเผินๆอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่จริงแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง เพราะรายได้ของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง จนต้องลดการผลิตหรือแม้กระทั่งลดการจ้างงาน

ทีนี้ เมื่อย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากผ่านพ้นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งตามปกติเงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อทั่วโลกส่วนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง การเลือกใช้หุ่นยนต์ (automation) ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นช้า และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นช้าตาม รวมทั้ง E-commerce ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการเข้าถึงต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า

ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อกลับยิ่งลดต่ำกว่าเดิมหรือติดลบ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากความต้องการซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก โดยเฉพาะจากมาตรการปิดเมือง ผนวกกับราคาพลังงานที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะเมื่อมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จและมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่ทยอยฟื้นกลับมา รวมทั้งอาจได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆด้วย อาทิ ระดับการปกป้องทางการค้าระหว่างประเทศ (trade protectionism) ที่สูงขึ้น และการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศที่มากขึ้น (deglobalization) อาจทำให้การแข่งขันด้านราคาลดลง ซึ่งส่งเสริมให้แรงงานที่เดิมมีอำนาจต่อรองต่ำสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ในการจ้างงานได้มากขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเดิมได้

ดังนั้น บางท่านที่อาจสงสัยว่าโลกได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ผู้เขียนก็อาจตอบได้ว่า “ไม่” (แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง) เพราะเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นอย่างช้าๆครับ!

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ