เสนอตัวซื้อข้าว-มัน-ปาล์ม ส.อ.ท.จี้รัฐแก้ซอฟท์โลนฝืด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เสนอตัวซื้อข้าว-มัน-ปาล์ม ส.อ.ท.จี้รัฐแก้ซอฟท์โลนฝืด

Date Time: 19 มิ.ย. 2563 09:12 น.

Summary

  • ส.อ.ท.ถก “บิ๊กตู่” เสนอ แผนฟื้นฟู-เยียวยาผู้ประกอบการ-เกษตรกร-แรงงาน โดยรัฐไม่ต้องออกเงินเพิ่ม โดยเอกชนจะช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิต และรับซื้อสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ 1,500 ล้านบาทต่อไร่

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

ส.อ.ท.ถก “บิ๊กตู่” เสนอ แผนฟื้นฟู-เยียวยาผู้ประกอบการ-เกษตรกร-แรงงาน โดยรัฐไม่ต้องออกเงินเพิ่ม โดยเอกชนจะช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิต และรับซื้อสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ 1,500 ล้านบาทต่อไร่ แนะใช้ บสย.ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 5 ปี ช่วยแบงก์มั่นใจปล่อยกู้เพิ่ม ปลื้ม!ความเชื่อมั่นอุตฯขยับครั้งแรกรอบ 4 เดือนหลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจไทยหลังประสบปัญหาจากโควิด-19 โดยที่ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินช่วยเหลือ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจะเข้าสนับสนุน ด้านเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญ รวมทั้งรับซื้อ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม เบื้องต้นกำหนดพื้นที่ไว้รวม 2 ล้านไร่ ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ จากการลดต้นทุน

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยจะขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงคลังอนุมัติวงเงินให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 200,000 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% โดยซอฟท์โลนก้อนนี้ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 80,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้ค้ำประกันให้เพียง 2 ปีแรก แต่ในความเป็นจริงเอสเอ็มอีจะใช้เวลาฟื้นฟู 3-5 ปี ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ แต่หากรัฐบาลให้ บสย.เข้าสนับสนุนจะขยายการค้ำประกันไปจนถึง 5 ปีได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่หารือเพิ่มเติมจะเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนได้เสนอไปแล้ว อาทิ การตั้งกองทุนนวัตกรรม 1,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพจัดตั้ง และเม็ดเงินในกองทุนภาคเอกชนจะเข้ามาสมทบเอง ทำให้รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยล่าสุดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดตั้งกองทุนฯนี้ รวมทั้งการเสนอมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเอสเอ็มอี 3 ปี และจะหารือปัญหาของแต่ละกลุ่ม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการให้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นยอดผลิต และดูแลแรงงานในอุตสาหกรรม 700,000 คน

มาตรการทราแวล บับเบิล หรือการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโควิด-19 ส.อ.ท.มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งรัฐบาลควรฉวยโอกาสนี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูง หรือนักท่องเที่ยวเกรดเอเข้ามาท่องเที่ยวพักอาศัยในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดี อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมไปถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีรายได้สูงและชอบมาเที่ยวในไทย ทำให้ได้เม็ดเงินจำนวนมากเข้าประเทศหล่อเลี้ยงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยขณะเดียวกัน เรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ส.อ.ท. ขอยืนยันว่าพร้อม สนับสนุนอย่างเต็มที่”

วันเดียวกัน ส.อ.ท.ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 78.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.9 ในเดือน เม.ย.โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด แต่ปัจจุบันภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ถึงระยะที่ 4 และยกเลิกเคอร์ฟิว ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 91.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.8 เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 เนื่องจากมองว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับมาขยายตัว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ