ขมีขมันส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ลุยไฮสปีดเทรน-ผ่าตัดใหญ่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขมีขมันส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ลุยไฮสปีดเทรน-ผ่าตัดใหญ่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์

Date Time: 11 มิ.ย. 2563 07:43 น.

Summary

  • “กระทรวงคมนาคม” สั่ง รฟท.-ทล.-ทช. เร่งรัดทุกแนวทางเพื่อให้ ผู้ชนะการประมูลเข้าไปใช้พื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“กระทรวงคมนาคม” สั่ง รฟท.-ทล.-ทช. เร่งรัดทุกแนวทางเพื่อให้ ผู้ชนะการประมูลเข้าไปใช้พื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยืนยันโอนถ่ายทรัพย์สิน แอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดือน ต.ค.64 พร้อมกำชับต้องพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไฮสปีดเทรน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ได้ติดตามความก้าวหน้า รวมถึงพิจารณาปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะทำงาน อาทิ งบประมาณการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยความคืบหน้าการดำเนินการในขณะนี้ ทั้งของคณะทำงาน และความคืบหน้าของบริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ยืนยันว่าสามารถเดินหน้าได้ตามแผน เป็นไปตามกระบวนการ พร้อมทั้งกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากติดปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็ขอให้แจ้งและนำมารายงานให้คณะกรรมการฯรับทราบความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไป

“ที่ประชุมได้กำชับเรื่องการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ทั้งของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ แนะนำผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมอบให้ ทล. ไปจัดทำข้อมูลสะพานข้ามทางรถไฟ ว่ามีกี่แห่ง และอยู่บริเวณใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาประสานกับ รฟท. ก่อนที่จะสรุปและให้บริษัทที่มาดำเนินการ ปรับแบบการก่อสร้างให้ข้ามสะพานดังกล่าว”

ขณะที่ ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่ ล่าสุด ได้มีการทยอยส่งมอบในจุดที่ไม่มีปัญหาแล้ว เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ล่าสุดภาคเอกชนยังได้เข้าไปสำรวจทรัพย์สิน ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อเตรียมการณ์ก่อนที่จะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินในเดือน ต.ค. 2564 และที่ประชุมยังได้ย้ำกับบริษัทเอกชนว่า เมื่อได้ทรัพย์สินของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไปแล้ว ต้องมีการปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

สำหรับ การส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และกรอบงบประมาณรื้อย้าย สาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินรื้อย้ายสาธารณูปโภค เปิดพื้นที่ก่อสร้าง โดยขอรับจัดสรรงบกลางจำนวน 479 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน การจัดสรรงบประมาณกลาง และประสานงานในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ

ล่าสุดได้รับทราบว่า กรอบวงเงินดังกล่าว มีการปรับลดลงด้วย ในส่วนของการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา ภายในระยะ 1 ปี 3 เดือน และช่วงดอนเมือง-พญาไทในระยะ 2 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญา และในส่วนของแผนก่อสร้างสาธารณูปโภคทดแทน และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคได้มีการเห็นชอบ ในวงเงิน 4,103 ล้านบาท และ รฟท. ได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าการเวนคืนที่ดิน แบ่งเป็น พื้นที่เวนคืนจากเดิมที่มี 857 ไร่ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็น 885ไร่, แปลงที่ดินจากเดิม 924 แปลง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็น 931 แปลงเป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่องของการดำเนินการโยกย้ายผู้บุกรุก ที่พบว่า มีจำนวน 1,352 หลัง แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ จำนวน 782 หลัง กระทบโครงการ 197 หลัง และกลุ่มที่2 ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 570 หลัง กระทบโครงการก่อสร้าง 301 หลัง ส่วนการฟ้องร้องคดีผู้บุกรุกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้แก่ เขาพระบาท 25 หลัง, บางละมุง 128 หลัง, พัทยา-บ้านห้วยขวาง 57 หลัง และเขาชีจรรย์ 2 หลัง รวม 212 หลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 รฟท. ได้ลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 220,000 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่สุด ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังใช้เวลาเตรียมการก่อนการประมูล 2 ปี และคาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี แล้วเสร็จภายในปี 2566.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ