น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ อี-เซอร์วิส ทั้งการโหลดภาพยนตร์ เพลง หรือการจองโรงแรมที่พัก ซึ่งผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศและไม่มีการจดทะเบียนหรือตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย โดยออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐบาลจะนำส่งร่างฉบับดังกล่าวให้กับสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอน และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท
“ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่เป็นการเก็บภาษีแวตจากผู้ประกอบการต่างประเทศ ที่ตั้งบริษัทหรือจดทะเบียนในประเทศไทย แต่ในกรณีนี้ ได้มีการเพิ่มเติมกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีบริษัทหรือไม่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีบริการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในไทยและมีรายได้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศก็สมควรที่จะต้องเสียภาษีแวตให้แก่กรมสรรพากรด้วย กรณีที่ผู้ประกอบการมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี”
น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ยังสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่ระบุว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีแวต และต้องนำส่งภาษีแวตให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้มากที่สุด ซึ่งประเทศที่จัดเก็บแวตเพิ่มส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว
สำหรับ พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส หรือเดิมใช้ชื่อว่า “อี-บีสซิเนส” เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร ซึ่งคาดว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักรมาใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีและการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี และยังอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจและประชาชน เพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและประชาชน และลดต้นทุนในการจัดทำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับภาษีอากรด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังเพิ่มเติมว่า บริการที่เข้าข่ายอี-เซอร์วิสในนิยามของกระทรวงการคลังเบื้องต้น ได้แก่บริการที่มีระบบสมาชิก และสมาชิกค่าใช้บริการ ที่ชัดเจนได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix), YouTube.