กรมสรรพากรรายได้วูบ 1.4 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรมสรรพากรรายได้วูบ 1.4 แสนล้าน

Date Time: 26 พ.ค. 2563 09:20 น.

Summary

  • นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษี และเร่งคืนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษี และเร่งคืนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้สูญเสียรายได้ 140,000 ล้านบาท ผ่านหลักปฏิบัติ 4 เรื่อง ได้แก่ “เลื่อน เร่ง ลด และแรงจูงใจ” อาทิ

1. เลื่อน ด้วยได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่ง และชำระภาษีอากร เพื่อให้เงินหรือสภาพคล่องอยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการให้ยาวนานขึ้น ทำให้สูญเสียรายได้ 92,000 ล้านบาท

2. เร่ง คือได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 95% จากผู้ขอคืน 3 ล้านคน คิดเป็นภาษีที่คืน 28,000 ล้านบาท

3. ลด โดยได้ออกมาตรการคืนสภาพคล่อง ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ผ่านการลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 3% ให้เหลือ 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

4. แรงจูงใจ ที่ได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ คงการจ้างงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างเดือน เม.ย.-ก.ค.นี้

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯจะเรียกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์มาหารือถึงข้อเสนอที่ให้กรมฯลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภทในอัตรา 50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคจากราคาขายที่ต่ำลง และหากได้ข้อสรุปก็จะเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พิจารณาต่อไป

“ในขณะนี้ ถ้าราคาขายรถยนต์ไม่ลดลง คนก็คงไม่ซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อคนไม่ซื้อรถยนต์ รายได้จากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ก็ต้องลดลงตามไปด้วย ส่วนรถยนต์ที่ผลิตใหม่และจอดไว้เฉยๆ ก็ต้องยอมรับว่าจะมีความเสื่อมไปตามเวลา ดังนั้นหากจะให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ต้องมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน”

สำหรับ การจ่ายภาษีสรรพสามิตรถยนต์ กรณีรถยนต์ยังอยู่ในโรงงานผลิต หรืออยู่ในเขตปลอดอากรในประเทศ ยังไม่ต้องชำระภาษี จนกว่าจะนำรถยนต์ออกจากโรงงาน หรือเขตปลอดอากรแล้ว เช่น รถยนต์ที่อยู่ตามโชว์รูมรถยนต์มีภาระเสียภาษีไปแล้ว หากจะให้รัฐบาลคืนภาษีที่เอกชนชำระไปแล้ว ต้องอยู่ที่ดุลพินิจของกระทรวงการคลัง ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการให้เงินอุดหนุนผู้นำรถยนต์เก่าอายุ 20 ปีขึ้นไปมาแลกซื้อรถยนต์คันใหม่ โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อคัน เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ