นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมวงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเป็นคนละวงเงินกับงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ที่มาจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยวงเงินงบประมาณ 150,000 ล้านบาทนี้ จะเข้ามาเติมเต็มในกรณีที่งบประมาณเพื่อฟื้นฟูหรือเยียวยาเศรษฐกิจไม่เพียงพอ หรือช่วยเติมเต็มกรณีที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับเงินจำนวน 150,000 ล้านบาทนี้ มาจากงบประมาณ 3 ส่วน คือ 1.จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่ได้มีการปรับปรุงงบประมาณ โดยกันเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อดูแลผลกระทบจากโควิด ซึ่งจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พ.ค.นี้
2.งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ตั้งไว้ที่ 99,000 ล้านบาท ซึ่งตามปกติงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นดังกล่าว จะมีการกันงบประมาณไว้ราว 20,000-30,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือฝนแล้ง เป็นต้น ดังนั้นจึงยังเหลืองบกลางอีกประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดได้
3.จากร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 88,000 ล้านบาท ที่จะเข้าอยู่ในงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ซึ่งคาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต้นเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งงบส่วนนี้จะกันไว้เพื่อกรณีแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือราว 50,000 ล้านบาท จะสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิดในปีนี้ได้.