ลูกหนี้รายย่อยแห่ขอความช่วยเหลือ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลูกหนี้รายย่อยแห่ขอความช่วยเหลือ

Date Time: 19 พ.ค. 2563 08:44 น.

Summary

  • ความคืบหน้ามาตรการทางการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ว่า มีลูกหนี้ขอใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 8 พ.ค.63 มีจำนวน 13.08 ล้านราย

Latest

ลุ้น!คนอายุ50ปีรับเงินหมื่นบาท  "คลัง"ชงบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ย้ำชัดลงทะเบียนไว้ได้รับทุกคน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ด้านเสถียรภาพสถาบัน แถลงความคืบหน้ามาตรการทางการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ว่า มีลูกหนี้ขอใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 8 พ.ค.63 มีจำนวน 13.08 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อ 4.6 ล้านล้านบาท เป็นรายย่อย 13.01 ล้านราย วงเงิน 3.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เช่าซื้อรถยนต์รถมอเตอร์ไซค์สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ที่มีการลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาผ่อนชำระ ลดค่างวด ขณะที่เป็นธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 68,008 ราย วงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ธปท.ได้ประสานให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้แล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 เป็นต้นมา ธปท.ได้ให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้เป็นธรรมมากขึ้น ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด เป็นคำนวณจากเงินต้นในงวดที่ผิดชำระ เช่น กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี งวดละ 42,000 บาท เดิมหากผิดนัดชำระ จะมีดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ต้องจ่ายเพิ่ม 27,443 บาท แต่ของใหม่หากมียอดเงินต้นในงวดค้างชำระ 10,000 บาท จะมีดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ต้องจ่ายเพิ่มเพียง 57.53 บาท”

สำหรับมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2%นั้น มีผู้ยื่นขอ 28,601 ราย วงเงินสินเชื่อ 49,308 ล้านบาท โดย 72% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถติดตามมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจากทุกสถาบันการเงินได้ที่เว็บไซต์ BOT COVID-19 ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือโทร.สายด่วนแก้หนี้ 1213 และ www.1213.or.th 

ด้านนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลดหนี้เอ็นพีแอลและสินเชื่อที่จับตาว่าจะเสียลงได้จำนวนหนึ่ง โดยเดือน ม.ค.และ ก.พ.63 ซึ่งยังไม่มีมาตรการนี้ หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.23% และ 3.25% ตามลำดับ แต่เมื่อออกมาตรการ ช่วยให้เอ็นพีแอลเหลือ 3.05% ส่วนซอฟต์โลน ถึงวันที่ 26 เม.ย.63 ปล่อยแล้ว 25,000 ราย วงเงิน 43,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ