วันเสาร์สบายๆ วันนี้ไปคุยเรื่อง “เงินหยวนดิจิทัล” หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ของจีนกันเสียหน่อยนะครับ ธนาคารกลางจีน เพิ่งทดลองใช้จริงใน 4 เมืองทันสมัย เซินเจิ้น ซูโจว เฉินตู และ สงอัน เมืองอัจฉริยะในอนาคต เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง “เงินหยวนดิจิทัล” ไม่ใช่ “เงินดิจิทัล Cryptocurrency” เหมือน Bitcoin ที่ใช้ระบบ Blockchain หรือเงินดิจิทัล Libra ของ Facebook แต่เป็น เงินหยวนปกติที่อยู่ในรูปของเงินดิจิทัล ที่ ธนาคารกลางจีน นำมาใช้แทนธนบัตร เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากการใช้ธนบัตร รวมทั้งป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตด้วย
เงินหยวนดิจิทัล มีมูลค่าเท่ากับ เงินหยวนธนบัตร ไม่เหมือน Cryptocurrency ซึ่งไม่มีค่าของตัวเอง ต้องอิงกับเงินตราสกุลอื่น และกำหนดราคาด้วยการซื้อขาย
ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็กำลังพัฒนา “เงินบาทดิจิทัล” ในรูปแบบ เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC) ในชื่อ โครงการอินทนนท์ โดยร่วมมือกับ ธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่ง เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารบน ระบบ Blockchain ซึ่งเป็นแบบ กระจายศูนย์แต่ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ แต่เงินหยวนดิจิทัล แบงก์ชาติจีนได้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นเอง ไม่ใช้ระบบ Blockchain ที่กระจายศูนย์ แต่เป็นเทคโนโลยีรวมศูนย์ไว้ที่ธนาคารกลางจีนเพียงแห่งเดียว ในฐานะผู้ออกธนบัตรเงินหยวนและเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ แบงก์ชาติจีน สามารถควบคุมดูแลเงินหยวนดิจิทัลได้ทั้งระบบ ไปอยู่ในกระเป๋าใครรู้หมด
มีงานวิจัยของโบรกเกอร์ ซิติก ซีเคียวริตี้ คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการในปลายปี 2563 จะมีการออกเงินหยวนดิจิทัลถึง 1 ล้านล้านหยวน ราว 140,000 ล้านดอลลาร์ 4.5 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 8 ของเงินสดในตลาดเงินจีน เกือบเท่ากับมูลค่าของ เงินดิจิทัล Cryptocurrency ทุกสกุล ที่มีอยู่ในตลาด 200,000 ล้านดอลลาร์
คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ สายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เงินหยวนดิจิทัล ว่า ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนปกติ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินของจีน ช่วยการปราบปรามการทุจริต ป้องกันการคดโกงและการฟอกเงิน ในระยะยาวจะช่วยเสริมความเป็นสากลของเงินหยวน ที่สำคัญ เงินหยวนดิจิทัลมีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับ Cryptocurrency โดยสิ้นเชิง และรัฐบาลจีนก็ไม่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ Cryptocurrency แต่อย่างใด
ธนาคารกลางจีน เริ่มศึกษา เงินหยวนดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2014 การนำออกมาใช้ในช่วงนี้ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันการติดโรคระบาดผ่านธนบัตร แม้จีนจะเป็น สังคมไร้เงินสด แต่เบื้องหลัง กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีธนบัตรหนุนหลังในระยะต่อไป เมื่อมีการใช้เงินหยวนดิจิทัลในวงกว้าง ธนาคารกลางจีนก็สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้ตรงจุดมากขึ้น
ที่น่ากลัวก็คือ แบงก์ชาติจีนสามารถติดตามสถานะผู้ถือเงินหยวนดิจิทัลได้ทั้งหมด เพราะ เงินหยวนดิจิทัลจะถูกเก็บอยู่ในโทรศัพท์มือถือของประชาชน การใช้จ่ายก็จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด แต่ข้อมูลการใช้จ่ายทุกหยวนจะถูกจัดเก็บรวมไว้ที่ธนาคารกลาง ไม่ได้กระจายอยู่ที่บริษัทเอกชน ดังนั้น แบงก์ชาติจีน จึงรู้อยู่ตลอดเวลาว่า เงินหยวนดิจิทัลอยู่ในกระเป๋าใครบ้าง จำนวนเงินเท่าไหร่ ช่วยให้ติดตามเงินและเก็บภาษีร้านค้าได้ง่ายขึ้น
จีนทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลใน 4 เมืองแตกต่างกัน เช่น เมืองซูโจว ให้เงินหยวนดิจิทัลช่วยค่าเดินทางให้กับข้าราชการครึ่งหนึ่ง เมืองสงอัน ทดลองใช้กับ ธุรกิจค้าปลีก จัดเลี้ยง ฟิตเนส โดยมีบริษัทข้ามชาติ เช่น สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ ซับเวย์ เข้าร่วมด้วย
เงินหยวนดิจิทัล ให้ความสะดวกในการเก็บและใช้จ่าย แต่ก็ต้องแลกด้วย อิสรภาพความลับส่วนตัว เพราะ แบงก์ชาติจีน รู้หมด คุณมีเงินเท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรที่ไหนบ้าง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”