การประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ปรากฏว่า ฝ่ายกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไม่ได้เดินทางไปตามนัดหมาย
ทั้งนี้ คงเหลือแต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลงานของกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เท่านั้น ที่อยู่รอคอยคณะของนายสมคิด
การไม่เข้าร่วมประชุมด้วยดังกล่าว ทำให้ฝ่ายกระทรวงคมนาคม ตัดสินใจยืนยันตามแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย โดยนายอนุทิน กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟูกิจการของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังมีความเห็นแตกต่างกัน กระนั้นก็ตาม นายอนุทินคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่แนวทางของกระทรวงคมนาคมชัดเจนตั้งแต่ต้น และการจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และตัดสินใจก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี
“จุดยืนของกระทรวงคมนาคมคือมุ่งสู่การปรับโครงสร้างของการบินไทย วิธีการที่จะปรับโครงสร้างได้จำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูตามกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง และแนวทางที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย บริษัทที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการจะต้องมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว และการจะยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ จะต้องกระทำโดยการบินไทยเอง หรือบรรดาเจ้าหนี้ของการบินไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่ กับข้อตกลงระหว่างการบินไทยกับเจ้าหนี้ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาเหตุผลความจำเป็น หรือมีช่องทางในการฟื้นฟูอย่างไร”
สำหรับฐานะของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีภาวะขาดทุนสะสม 19,383.39 ล้านบาท มีภาระหนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท มีสินทรัพย์อยู่ 256,664 ล้านบาท (การมีเครื่องบินจอดทิ้งรอขายอยู่หลายลำอาจทำให้สินทรัพย์ด้อยค่าลงไปมาก) ทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือเพียง 11,765.11 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนของหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) คือ 20.81:1 หมายความว่ามีภาระหนี้สูงกว่าส่วนของทุนมาก (นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง สัดส่วน D/E Ratio ของภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1-2 เท่า เพื่อให้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ได้แบบไม่กินส่วนของทุน)
“สถานการณ์เช่นนี้เรียกว่าฐานะการเงินของการบินไทยเข้าขั้นวิกฤติ ไม่มีทางเลือกอื่นอีกนอกจากต้องนำการบินไทยเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สามารถรักษาความเป็นสายการบินแห่งชาติของการบินไทยไว้ให้ได้ พวกผมไม่ได้ประสงค์จะทำให้การบินไทยล้มละลาย หรือสิ้นเนื้อประดาตัวจนไม่มีอะไรเหลืออยู่ในมือ แต่ต้องการให้การบินไทยสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้บริการได้ ภายใต้แผนการฟื้นฟูที่ต้องดำเนินการหลายด้านด้วยกันไม่เช่นนั้น รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของการบินไทยได้เลย”
ส่วนประเด็นที่มีความเห็นต่างกันกับกระทรวงการคลังก็คือ นายสมคิดและนายอุตตม ประสงค์จะเลือกให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ หรือค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อนำไปให้การบินไทยใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลจะอนุมัติเช่นนั้น ก็เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาทั้งระบบ และยังคงปล่อยให้ขยะในการบินไทยถูกซุกไว้ใต้พรมอยู่ดี ดังนั้น แผนการของกระทรวงคมนาคมจึงเป็นกระบวนการสะสางปัญหาภายในของการบินไทยที่ค้างคามานานหลายสิบปี ได้แบบเบ็ดเสร็จดีกว่ากระบวนการฟื้นฟูในแบบแรกที่รัฐจะใส่เงินเข้าไปเหมือนละลายน้ำพริกในแม่น้ำ
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการตัดสินใจของกระทรวงคมนาคม กับ คนร. ดังนั้น การให้สัมภาษณ์แล้วไปพูดต่อก็มั่วกันไปหมด เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการบินไทยเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต้องให้ คนร.ตัดสินใจ ขณะที่กระทรวงคมนาคมในฐานะที่กำกับดูแลก็ต้องทำงานของตนเองให้จบ ส่วนผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น สำหรับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ตนไม่อยากต้องมานั่งแก้ข่าวเพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายถือเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหา แต่การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ ครม.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายแผนฟื้นฟูอาจไม่ถึงขั้นล้มละลายก็ได้ เรื่องนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และการบินไทยต้องหารือกัน ส่วนที่มีข่าวว่าสิ้นเดือน พ.ค.นี้ การบินไทยจะไม่มีเงินเพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานนั้น ฝ่ายบริหารและกรรมการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้สำเร็จไปได้เปราะหนึ่ง ทำให้กระแสเงินสดเดินหน้าไประดับหนึ่ง แต่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ แนวทางจะเป็นอย่างไรกำลังดูอยู่ และสุดท้ายจะจบที่การตัดสินใจของ ครม.
ขณะที่นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พลิกบทบาททันทีด้วยการส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยินดีให้ความร่วมมือแผนฟื้นฟูการบินไทยที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาผ่านความเห็นชอบของ คนร.และคณะรัฐมนตรีให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพราะเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศจะสามารถแก้ปัญหาให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้.