กดดัน “กกร.” เดินหน้า “ซีพีทีพีพี” ขอ 1 เดือนดูผลเพื่อกำหนดท่าที

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กดดัน “กกร.” เดินหน้า “ซีพีทีพีพี” ขอ 1 เดือนดูผลเพื่อกำหนดท่าที

Date Time: 7 พ.ค. 2563 09:01 น.

Summary

  • ดิ้นดันไทยเข้าเป็นสมาชิก“ซีพีทีพีพี” หลัง “จุรินทร์” ถอดออกจากวาระ ครม. เดินหน้ากดดัน “กกร.” ให้ออกแถลงการณ์หนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ดิ้นดันไทยเข้าเป็นสมาชิก“ซีพีทีพีพี” หลัง “จุรินทร์” ถอดออกจากวาระ ครม. เดินหน้ากดดัน “กกร.” ให้ออกแถลงการณ์หนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก ขีดเส้นต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อให้ทันกับการประชุม รมต.การค้าซีพีทีพีพีเดือน ส.ค.นี้ ที่จะพิจารณาการรับสมาชิกใหม่ด้วย ด้านหอการค้าไทยตั้งคณะทำงานศึกษาเข้าร่วมซีพีทีพีพี ปัด “สมคิด” ขอมือหนุน ด้าน“สนั่น” นัดประชุมคณะทำงาน 8 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ถอนเรื่องการพิจารณากรณีที่ไทยจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ออกจากวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 ไปแล้วนั้น ล่าสุด มีความพยายามของคนในรัฐบาล ที่จะเดินหน้าให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีให้ได้ และได้ผลักดันผ่านภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคาร ซึ่งปกติจะประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง ให้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอให้ ครม.พิจารณาเอง เพราะนายจุรินทร์ได้ยืนยันว่า จะไม่นำเรื่องนี้เสนอให้ ครม.พิจารณา ตราบใดที่สังคมยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ จึงเป็นไปได้ที่นายจุรินทร์อาจจะไม่เสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาโดยมีการตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้เสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อให้ทันกับการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิกซีพีทีพีพีในเดือน ส.ค.นี้ ที่อาจมีการพิจารณาการรับสมาชิกใหม่ด้วย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ หอการค้าไทยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อศึกษาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ เป็นประธาน โดยจะศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และผลประโยชน์ของการเข้าร่วม คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน โดยการที่หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา เป็นเพราะเห็นว่า มีกลุ่มคนที่คัดค้านและสนับสนุน จึงต้องมีข้อมูลให้ครบ รอบด้าน ซึ่งเมื่อศึกษาเสร็จแล้ว จะนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนนัดประชุมคณะทำงานวันที่ 8 พ.ค.นี้ โดยได้เชิญแต่ละกลุ่มการค้ามาร่วมให้ความเห็น รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา คือ สิทธิบัตรยา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยจะต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนถึงผลดี ผลเสีย รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า เวียดนาม เหตุใดจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกทั้งๆที่ยังไม่มีความพร้อม และเมื่อเข้าไปแล้วเวียดนามได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

“กรณีที่นายจุรินทร์ถอนวาระไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีออกจาก ครม. ภาคเอกชนก็ยังไม่ทราบเหตุผล แต่เข้าใจได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยจึงยังไม่เสนอเรื่องนี้เข้า ครม.”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 ส.อ.ท.ได้เชิญสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆมาหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมซีพีทีพีพี ที่ภาคประชาสังคมมีความเห็นแย้งว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไร เพราะที่ผ่านมา จากการติดตามข่าวต่างๆ พบว่า ทั้งผู้คัดค้านและผู้ที่เห็นด้วย ให้เหตุผลต่างกัน หากมีผลดีมากกว่าก็จะสนับสนุนการเข้าร่วม และจะขอให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่หากมีข้อเสียมากกว่า ภาคเอกชนก็พร้อมจะถอย โดยในการประชุม กกร.วันที่ 7 พ.ค.นี้ จะนำเรื่องที่ไทยจะขอเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีหารือในที่ประชุมด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ