The Issue : เงินกำลังจะหมุนไป

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : เงินกำลังจะหมุนไป

Date Time: 5 พ.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งในจำนวนนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งในจำนวนนี้ กระทรวงการคลังได้แบ่งการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ก้อนแรก เงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชน จำนวน 600,000 ล้านบาท และก้อนที่ 2 เป็นเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท

โดยแผนงานที่วางไว้ในขณะนี้ ต้องถือว่าเดินมาเกือบถึงครึ่งทางแล้ว โดยเฉพาะการช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชน ล่าสุดมีการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงิน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) รวมเป็นเงิน 15,000 บาท จำนวน 28.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากที่ก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่า คนที่ได้รับสิทธิ์เพียง 9 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น การทำงานของกระทรวงการคลังในช่วงนี้ จึงพุ่งเป้าไปที่การจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งนับจากวันที่เปิดให้มีการลงทะเบียนในวันแรก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังใช้เพียงระยะเวลาเดือนเศษในการจ่ายเงินให้ถึงประชาชน 8.6 ล้านคน

โดยคาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินได้เพิ่มเติมอีก 2 ล้านบาท รวมเป็น 11.6 ล้านคน ส่วนที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 17.8 ล้านคนนั้น พบว่า มีประชาชนยื่นทบทวนสิทธิ์ประมาณ 5 ล้านคน จึงยังคงเหลือยอดที่อยู่ระหว่างรอการตรวจสิทธิ์อีกประมาณ 12.8 ล้านคน ซึ่งคาดว่า ไม่น่าเกินกลางเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเขย่าให้สะเด็ดน้ำ ใช้ตะแกรงร่อนคนที่ได้และไม่ได้รับสิทธิ์ถึง 98% ของจำนวนที่ลงทะเบียนทั้งหมด ดังนั้น คนที่ผ่านเกณฑ์ ได้รับเงินจากรัฐบาลก็คงจะดีใจกับก้อนนี้ แต่เชื่อว่ายังมี คนอีกนับล้านๆที่ไม่ได้สิทธิ์และคงเสียใจ ต้องมองหาลู่ทางในการดำรงชีวิตกันในช่วงที่โควิด ยังแพร่ระบาด และการปิดเมืองภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันต่อไป

โดยในช่วงระหว่างนี้ ก่อนที่จะสิ้นสุดมาตรการแจกเงิน 5,000บาท 3 เดือน ในเดือน มิ.ย.นี้

รัฐบาลได้วางแผนเพื่อเชื่อมรอยต่อของมาตรการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังมีเงินเหลืออยู่อีก 400,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มต้น หรือ “คิกออฟ” ไปแล้ว ภายใต้การวางแผนของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันเงินกู้ก้อนนี้ ให้ถูกใช้ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ให้มากที่สุดคือ

“การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภาคชนบทที่ได้รับผลกระทบจากแรงงานที่เดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งเป็นผลพวงจากการปิดเมือง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระลอกใหญ่ จากที่เคยทำงานอยู่ในเมือง หรือในโรงงานอุตสาหกรรมต้องกลับไปทำอาชีพเกษตรกรในชนบท

ดังนั้น เงินกู้จำนวน 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินก้อนที่ 2 ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงมีความสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย เพราะไม่ใช่เงินที่แจกฟรีให้แก่คนในเมืองที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือหัวหน้าครัวเรือนของเกษตรกรในยามฉุกเฉินอีกแล้ว

แต่เงินก้อนนี้ วางแผนเพื่อใช้ดำเนินงานใน 4 ด้านหลักประกอบด้วย 1.การพัฒนาภาคเกษตรกร 2.การพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ 3.การท่องเที่ยว และ 4.ทางด้านไอที หรือเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Local economy หรือ “เศรษฐกิจท้องถิ่น” ที่เลือนหายไปจากสังคมไทยให้กลับฟื้นคืนมาใหม่ นั่นก็คือ การยึดโยงสังคมไทยด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

ไม่ใช่เศรษฐกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไรมากๆ จากการสร้างสนามบิน การสร้างถนนหนทาง การสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ แต่จะเป็นเน้นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนเป็นหลัก

โดยนำบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หลังจากที่สบู่แตกฟอง ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% และการท่องเที่ยว 20% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากเกินไป จนทำให้เกิดความเสี่ยงสูง เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ก็จะกลายเป็นวิกฤติของเศรษฐกิจไทยและคนไทยไปพร้อมๆกัน เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2551-52 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาคการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่ครอบคลุมจำนวนประชาชนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 40 ล้านคน จากจำนวนประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคน รัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่มีใครเข้าดูแลหรือให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ดังนั้น การใส่เม็ดเงิน 400,000 ล้านบาทลงไปในภาคชนบท จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทุ่มจำนวนมหาศาลจ่ายตรงถึงคนระดับล่างสุดของประเทศ โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นมาทดแทน ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

เพื่อจุดประกายแห่งความหวังอีกครั้งว่า เศรษฐกิจจะมีภูมิคุ้มกันจากโควิด-19.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ