"CPTPP" ทำไมไทยเสียเปรียบ คนลุกฮือต้านอย่าลักไก่ สุดท้ายรัฐบาล ยอมถอยแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"CPTPP" ทำไมไทยเสียเปรียบ คนลุกฮือต้านอย่าลักไก่ สุดท้ายรัฐบาล ยอมถอยแล้ว

Date Time: 27 เม.ย. 2563 20:08 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ต้องจับตาดูท่าทีรัฐบาล ในการประชุม ครม. 28 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP ) หรือไม่

ต้องจับตาดูท่าทีรัฐบาล ในการประชุม ครม. 28 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ ท่ามกลางการคัดค้านของหลายฝ่ายมองว่ามีแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดี และผู้เกี่ยวข้องกำลังลักไก่นำเรื่องนี้เข้าไป ในห้วงวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด

  • ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้ถอนการเสนอเรื่อง CPTPP เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. แล้ว โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผล เมื่อยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ระหว่างฝ่ายต่างๆ จึงได้ถอนเรื่องออกไปแล้ว และจะไม่เสนอเรื่องนี้อีก ตราบใดที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ จากเดิมการเสนอเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา

  • CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งแต่เดิมคือ TPP (Trans-Pacific Partnership) เคยมีสหรัฐฯ เป็น 1 ใน 12 ประเทศสมาชิก มีจุดเริ่มจากประเทศชิลี สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ได้มีการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันเมื่อปี 2546 หวังเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชีย อเมริกาใต้ และแปซิฟิก เข้าด้วยกัน จนบรรลุผลทั้ง 12 ประเทศ ลงนามความตกลงในปี 2559

  • ต่อมาภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้ประกาศถอนตัว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2560 ทำให้เหลือเพียง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามความตกลง เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561

  • เนื้อหาการลงนามครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยต้องมีอย่างน้อย 6 ประเทศ รับรองความตกลงฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ พร้อมการส่งสัญญาณความพร้อม ในการเปิดรับสมาชิกใหม่ โดยไทย สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ตั้งในสมัยรัฐบาล คสช.

  • ไทยจะเสียเปรียบอย่างใด ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ทาง นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในผู้คัดค้าน ออกชี้ชัดเป็นการเอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการเข้าถึงยา ไทยจะไม่สามารถใช้สิทธิ (ซีแอล) นำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี และยามะเร็งมาใช้ดูแลรักษาประชาชนได้ และจะกระทบเกษตรกร ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองผูกขาด นำไปปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้ง



  • อีกแนวร่วมในการคัดค้านอีกคน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าภาพรวมเห็นได้ชัดว่าไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปแล้ว หากไทยเข้าร่วม CPTPP ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่ม คือ เม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ขณะที่อีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือ ไทยมีข้อตกลงการการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด ไม่ควรจะต้องยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้

  • รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา และนักลงทุนต่างชาติจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรัฐควรฟังเสียงภาคประชาชนให้มาก และเปิดให้สภาได้ถกเถียงกันในรายละเอียด ในสถานการณ์ชุลมุนเช่นนี้ รัฐอย่าฉวยโอกาส เพื่อที่จะได้ "อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย"

  • ทันทีที่กระทรวงพาณิชย์ ถอนการเสนอเรื่อง CPTPP เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. ทาง น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ วอทช์ ออกมาดักทาง ไม่รู้ว่าจะแค่ถอนออกในช่วงที่เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาในขณะนี้ แล้วเสนอให้ ครม.ในช่วงที่เรื่องนี้ซาลงหรือไม่ ที่จริงอยากให้รัฐบาลยกเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิกไปเลย เพราะผลที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นข้อกังวลต่างๆ.

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ