26 มี.ค.2563 นอกจากจะเป็นวันเกิดครบรอบ 50 ปีบริบูรณ์ของช่อง 3 แล้ว ยังเป็นวันที่ ประชุม มาลีนนท์ รองประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ
การตัดสินใจลาออกของประชุมในวันเกิดของช่อง 3 ธุรกิจที่คุณพ่อของเขา (วิชัย มาลีนนท์) เริ่มต้นขึ้นกับมือ สร้างความประหลาดใจและชวนให้ไขปริศนาอยู่ไม่น้อย หากไม่เพียงแต่จากนั้นไม่นาน ในวันที่ 20 เม.ย.2563 อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ ช่อง 3 ได้ประกาศลาออกตามมา มีผลวันที่ 20 มิ.ย.2563
แม้สถานะของอริยะจะถูกจับตามองมาสักพัก หลังประชุมผู้ชักชวนให้เขาเข้ามาร่วมงานกับช่อง 3 ตัดสินใจสละเก้าอี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่อริยะประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็ดังกระหึ่มไม่ต่างจากเสียงฮือฮาที่ได้รับ ตอนที่เขาตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562
อริยะ ผู้ซึ่งนามสกุล การศึกษา และประวัติการทำงานหรูหรา ผ่านมาตั้งแต่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) ไม่นานจากนั้นก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง Country Head ของกูเกิล ประเทศไทยตอนอายุ 38 ปี ตามด้วยไลน์ ประเทศไทย ก่อนขยับขึ้นสู่ตำแหน่ง President ของช่อง 3 เมื่อปีที่ผ่านมาด้วยวัย 46 ปี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เส้นทางของอริยะในฐานะผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง
ตอนย้ายจากกูเกิลไปไลน์ อริยะคุยให้นักข่าวกลุ่มเล็กๆฟังว่า แม้กูเกิลจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่เมืองไทยเป็นประเทศเล็ก อยากทำอะไร ก็ทำไม่ได้มากเพราะบริษัทแม่ไม่ให้ความสำคัญ เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่ไลน์ เพราะประเทศไทยเป็นตลาดหลัก บริษัทแม่ให้ความสำคัญ จึงน่าจะมีอะไรให้ทำเยอะกว่า
ส่วนตอนย้ายจากไลน์ไปอยู่ช่อง 3 อริยะเล่าว่ามี Head Hunter โทร.มาชวน และที่ตัดสินใจรับงานเพราะอยากท้าทายตัวเอง
สิ่งที่อริยะคิดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เขาเป็นผู้บริหารยุคใหม่เติบโตจากบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน อยู่ในธุรกิจขาขึ้น เขายังเป็นนักพูดที่ถูกเชิญขึ้นเวทีหลากหลาย กระตุ้นให้ “บริษัทใหญ่ยุคเก่า” ก้าวให้ทันเทคโนโลยี พอมาถึงวันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึง ย่อมอยากลงมือทำ จากที่เคยพูดอย่างเดียว
นอกจากความกระหายในการท้าทายตัวเองไปสู่บททดสอบที่ยากขึ้นของผู้บริหารมืออาชีพยุคใหม่ ปัจจัยหนึ่งที่มีน้ำหนักเสมอ คือผลตอบแทนที่มาในรูปของเงินเดือน สวัสดิการ มูลค่ามหาศาลกว่าที่เคยได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเป็นอริยะและทีมงานระดับคีย์แมน ตั้งแต่ฝ่าย HR, การขาย การตลาด, มือขวา, มือซ้าย และอื่นๆ ที่ทยอยเข้ามาร่วมทีม
ว่ากันว่าปัญหาค่าตอบแทนระหว่างพนักงานใหม่และเก่า วัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่าง ยิ่งนานวันยิ่งก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ สร้างความแตกแยกร้าวลึก ขณะที่ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่ได้ปรับลดลงมากนัก แม้เอาพนักงานเก่าออกไปมากกว่า 200 คน
ตัวอย่างความขัดแย้งที่หลุดรอดออกมาเป็นข่าว ได้แก่ การที่ 1 ในทีมผู้บริหารที่อริยะชักชวนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ละครของช่องเรื่องหนึ่งแบบเสียๆหายๆผ่านโซเชียลมีเดีย จนผู้จัดเจ้าเก่าถึงกับต้องออกมาตัดพ้อกับสื่อว่าทำงานมา 30 ปี ไม่เคยเจอแบบนี้
มาดูที่ผลประกอบการกันบ้าง (ข้อมูลจาก tvdigitalwatch.com และที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ) รายได้รวมของช่อง 3 เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 8,310 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 17.9% ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 397 ล้านบาท จาก 330 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ทั้งที่ได้รับประโยชน์จากการคืนใบอนุญาต ได้เงินกลับเข้ามาเป็นรายได้ 820 ล้านบาท
ถ้าจะเอาให้แฟร์ ต้องดูที่รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่น (รวมธุรกิจออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ของกลุ่มและพันธมิตร ซึ่งเป็นความถนัดอย่างยิ่งยวดและเป็นกลยุทธ์สำคัญของอริยะและทีมของเขา) ในปี 2562 อยู่ที่ 953.3 ล้านบาท ปรับลดลง 8.4% จากปี 2561
โฟกัสเฉพาะไตรมาส 4/2562 นับจากที่อริยะเข้ามารับตำแหน่งเป็นเวลา 8 เดือน รายได้ รวมลดลง 19% รายได้จากโฆษณา ลดลง 26% รายได้จากค่าลิขสิทธิ์และอื่นๆ ซึ่งรวมธุรกิจออนไลน์ ลดลง 27% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2563 อันเป็นห้วงเวลาที่อริยะกำลังจะบริหารงานมาครบ 1 ปีเต็มยังไม่ได้ประกาศออกมา เขาก็ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกเสียก่อน
เรื่องราวเบื้องหลังสาเหตุของการลาออกที่บอกว่าเป็น “เหตุผลส่วนตัว” นั้น คงจะมากมายและสาหัสสากรรจ์มิใช่น้อย ความปรารถนาในการท้าทายตัวเองของ ‘อริยะ’ และโอกาสที่บอร์ดบีอีซีเวิลด์มอบให้แก่เขา จึงจบลงในเวลาอันสั้น.
ศุภิกา ยิ้มละมัย