“หมอเสริฐ” พร้อมช่วยนายกฯ 100 ล้าน ขุดบ่อน้ำแก้วิกฤติภัยแล้งหลังโควิดจบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“หมอเสริฐ” พร้อมช่วยนายกฯ 100 ล้าน ขุดบ่อน้ำแก้วิกฤติภัยแล้งหลังโควิดจบ

Date Time: 21 เม.ย. 2563 08:50 น.

Summary

  • “หมอเสริฐ” เสนอช่วยรัฐ 100 ล้านบาท ขุดบ่อน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ต้องเผชิญภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“หมอเสริฐ” เสนอช่วยรัฐ 100 ล้านบาท ขุดบ่อน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ต้องเผชิญภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ในฐานะผู้สร้างความมั่งคั่งจากการเป็นเจ้าของ ผู้ก่อตั้งสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ส และผู้ถือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการที่มีโรงพยาบาลในสังกัดราว 43 แห่ง

“หมอเสริฐ” ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ในฐานะมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 11 ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ล่าสุดเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมาด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 84,900 ล้านบาท หล่นจากอันดับที่ 7 ในปี 2562 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 108,000 ล้านบาทว่า รับทราบจากสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากขอความเห็น และความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนช่วงไวรัสโควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่องว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเยียวยา และดูแลผลกระทบของประชาชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ไปค่อนข้างมาก และได้ผลดีในระดับหนึ่งแล้ว

สำหรับตนในฐานะที่มีความพร้อมด้านการบินและการแพทย์ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข ในการนำเครื่องบินไปรับส่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเพื่อเดินทางไปรักษาคนไข้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะที่ภูเก็ต และส่วนอื่นๆ ของประเทศ พร้อมกับเข้าไปช่วยให้การศึกษาแก่ผู้คนในการระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสจนประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด

“ถึงขณะนี้ หากแพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ช่วยเรื่องใด ผมก็พร้อมจะช่วยเหลือทันทีอยู่แล้ว” ส่วนที่นอกเหนือจากสิ่งที่ทำไปแล้วก็คือ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีร้องขอมา ผมคิดว่าปัญหาที่ประเทศไทยเราจะต้องพบเจออีกต่อจากโควิด-19 ก็คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ ผมจึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย”

นพ.ปราเสริฐ กล่าวว่า เหตุที่ต้องเป็นจังหวัดสุโขทัยก็เพราะใต้ดินมีน้ำจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้ เดิมทีสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง ใช้น้ำจากแก่งเสือเต้นซึ่งเป็น ที่รวมของแมน้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่อรัฐบาลไม่ให้ใช้แก่งเสือเต้น น้ำที่หลากมาในยามฤดูฝนก็จะไหลผ่านเมืองลงทะเลไปไม่สามารถเก็บกักมาใช้ทำประโยชน์ได้เลยในหน้าแล้ง ไปดูตอนนี้ก็ได้ว่าแม่น้ำยมสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้ เพราะน้ำแล้งแห้งขอดไปหมด

“ผมอยากจะช่วยออกเงินให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดิมเดือดร้อน พร้อมทหารช่าง รวมถึงอาจจะจ้างทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ยังมีกำลัง วังชาอยู่ มาช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็กๆให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้ ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราอาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น”

นพ.ปราเสริฐ กล่าวว่า ตนมีเครื่องไม้เครื่องมือ และรถแบ็กโฮในการก่อสร้างทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรอยู่มาก สามารถนำมาใช้เพื่อการนี้ได้ผมตั้งงบไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ แต่กรณีนี้ ต้องให้รัฐบาลยินยอมที่จะให้มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วย เมื่อแต่ละจังหวัดมีน้ำใช้เพียงพอ เกษตรกรก็สามารถจะจับปลาไปขาย และมีน้ำไว้ทำนาปรังซึ่งเชื่อว่าปีหน้าราคาข้าวน่าจะสูงขึ้น เพราะปีนี้น้ำแล้ง ปลูกข้าวไม่ค่อยได้

“ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาลซึ่งผู้มีความสามารถหลายคนก็บริจาคกันไปมากแล้ว แต่การเตรียมการหลังโควิด-19 หยุดแพร่ระบาดยังไม่ได้มีคนคิด ผมจึงคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญ เรายังสามารถจะขุดลอกแม่น้ำยมให้มีความลึกได้มากกว่านี้ หรือลึกลงไปราว 20 เมตรเพื่อเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้หรือ อย่างบึงบอระเพ็ด ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ ก็สามารถจะขุดให้ลึกลงไปได้อีกเพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้ และเก็บกักน้ำไว้ในยามน้ำแล้งได้ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่ต้องปล่อยให้น้ำฝนไหลผ่านลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์”

สำหรับบ่อเล็กๆที่จะขุดเอาน้ำใต้ดินมาใช้นี้ หากสามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคตเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ก็ยิ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ “ถ้าปีนี้ไม่ทัน อย่างน้อยปีหน้าก็จะมีน้ำไว้ให้เกษตรกรและประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้” อนาคตข้างหน้า น้ำจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และไม่มีทางที่จะหามาเพิ่มได้ ถ้าไม่ทำที่เก็บกักน้ำไว้ “ผมคิดว่า ข้อเสนอของผมน่าจะช่วยรัฐบาลและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มาก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ