คนเดือดร้อนอ่านตรงนี้ อัปเดต 4 มาตรการเยียวยาโควิด-19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนเดือดร้อนอ่านตรงนี้ อัปเดต 4 มาตรการเยียวยาโควิด-19

Date Time: 20 เม.ย. 2563 05:04 น.

Summary

  • หลังจากที่รัฐบาลออก “มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)” ออกมาแล้ว 3 ชุด วงเงินทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท โดยแยกมาตรการเจาะกลุ่ม ตั้งแต่คนที่มีรายได้น้อย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

หลังจากที่รัฐบาลออก “มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)” ออกมาแล้ว 3 ชุด วงเงินทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท โดยแยกมาตรการเจาะกลุ่ม ตั้งแต่คนที่มีรายได้น้อย ขยายไปยังเกษตรกร จนถึงดูแลเสถียรภาพการเงิน

โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่ทันใจผู้ที่กำลังรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือหลักใน 4 ด้าน คือ

1.มาตรการแจกเงิน 5,000 บาท และการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ

2.มาตรการพักหนี้ ลดดอกเบี้ยและปรับโครงสร้างหนี้

3.การคืนค่ามิเตอร์ และลดค่าน้ำค่าไฟ

และ 4.การจ่ายเงินช่วยลูกจ้างผ่านกองทุนประกันสังคม ว่าแต่ละมาตรการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว รวมทั้งหากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม สามารถใช้ช่องทางใดบ้าง

ขอทะลัก “แจก 5,000 บาท-ให้กู้ใช้จ่าย”

ส่วนแรก ที่เราติดตามความคืบหน้าของมาตรการในส่วนของนโยบายการคลัง มาตรการแรก คือ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ แรงงานอาชีพอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 โดยเปิดลงทะเบียน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.63 มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 27.5 ล้านคน

ขณะที่ความคืบหน้า ณ ปัจจุบันได้ทยอยจ่ายเงินให้กับผู้ผ่านเกณฑ์แล้วระหว่างวันที่ 8-17 เม.ย.63 รวม 3.2 ล้านคน วงเงิน 16,000 ล้านบาท และวันที่ 20-21 เม.ย.จะจ่ายให้ผู้ผ่านเกณฑ์อีก 900,000 ราย รวมเป็น 4.1 ล้านคน วงเงินรวม 20,500 ล้านบาท โดยจากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 27.5 ล้านคน มีประชาชนที่อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาแล้ว 3.6 ล้านคน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากต้องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประกันสังคม เกษตรกร ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ามีประมาณ 3 ล้านคน แต่ต่อมารัฐบาลให้ดูแลกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 39 (ไม่มีนายจ้าง) และมาตรา 40 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ) อีก 5 ล้านคน เป้าหมายผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาจึงเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 ล้านคน”

ทั้งนี้ วงเงินที่นำมาใช้จ่ายในมาตรการนี้ นำมาจากงบกลางที่มี 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอจ่ายให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไม่เกิน 9 ล้านคน คนละ 5,000 บาทในเดือน เม.ย.นี้แน่นอน ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือจะใช้งบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะกู้ได้ช่วงต้นเดือน พ.ค.63 ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขยายกรอบเพิ่มอีก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือน หรือยาวไปถึงเดือน ก.ย.63 ยังเป็นแค่กรอบเวลาที่กำหนดไว้

สำหรับกรณีคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์รับเงิน 5,000 บาท ในวันที่ 20 เม.ย.63 กระทรวงคลังจะเพิ่มปุ่ม “ทบทวนสิทธิ์” สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบ และในระยะต่อไปจะขยายไปยังกลุ่มที่กดยกเลิกการลงทะเบียน โดยไม่ได้ตั้งใจหรือเข้าใจผิดด้วย คาดว่าจะมีผู้มาขอทบทวนสิทธิ์ราว 4 ล้านคน และจะปิดรับลงทะเบียน วันที่ 22 เม.ย.63 เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ก่อนจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่จริง เพื่อยืนยันตัวตนผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ หรือผู้ที่กรอกข้อมูลไม่ชัดเจน ซึ่งไม่สามารถหาตัวตนในระบบได้

ส่วนกรณีที่พลาดสิทธิ์จากเงินเยียวยา 5,000 บาท รัฐบาลได้ออกโครงการสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 40,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถกู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.-30 ธ.ค.63

สำหรับธนาคารออมสินให้บริการสินเชื่อ 2 ประเภท คือ สินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระ วงเงินสูงสุดรายละ 10,000 บาท ไม่มีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน และสินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ วงเงินสูงสุดรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน และต้องมีหลักประกัน โดยหลังจากเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.63 ล่าสุด ณ วันที่ 18 เม.ย. มีผู้ลงทะเบียนแล้ว รวม 1.08 ล้านราย วงเงิน 26,822 ล้านบาท

ด้าน ธ.ก.ส.ปล่อยกู้สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรและครอบครัวเกษตรกร รวมถึงบุคคลทั่วไปที่เดือดร้อนจากโควิด-19 โดยหลังจากเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE Official BAAC Family ล่าสุด ณ วันที่ 18 เม.ย.ลงทะเบียนแล้ว 1.21 ล้านราย วงเงินกู้ 12,140 ล้านบาท

พักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 1.77 ล้านราย

เรื่องต่อมาเป็นการติดตามมาตรการภาคการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง แยกเป็น 2 ส่วนคือ อัตราดอกเบี้ย และการให้สินเชื่อเพิ่มเติมตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยกรณีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงนั้น หลังจากที่รัฐบาล และ ธปท.ได้ออกมาตรการขยายเวลาการค้ำประกันเงินฝากไว้ที่ 5 ล้านบาทต่อคนต่อบัญชี ออกไป 1 ปี และปรับลดอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงครึ่งหนึ่งจาก 0.46% เหลือ 0.23%

ทำให้ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงทุกประเภทลง 0.40% ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าเบิกเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) ทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ในระบบลดลงทันที 0.40% เช่นกัน

ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ ให้สินเชื่อใหม่ และพักหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ความคืบหน้าถึงวันที่ 10 เม.ย.63 ตัวเลขของ ธปท.ระบุว่า สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้ว 1,776,327 ราย คิดเป็นภาระหนี้ 1,489,531 ล้านบาท ใน 3 มาตรการหลักๆ

1.การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย เป็นเวลา 6 เดือน โดยในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต ในส่วนนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ยืนยันว่าได้พักหนี้ให้อัตโนมัติให้กับลูกหนี้ที่เข้าข่ายทุกราย และได้ทยอยดำเนินการในเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ยังมีความกังวลต่อกรณีนี้ เพราะการพักชำระหนี้นั้น แม้ไม่ต้องส่งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ไม่ได้หยุดคิดอัตราดอกเบี้ย ทำให้เมื่อจบระยะเวลาพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ต้องมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น

2.การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดย ธปท. จัดสรร soft loan อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้ธนาคารวงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอี โดยขอกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง แต่ต้องรอ ร่าง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ประกาศอย่างเป็นทางการก่อน

3.มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทั้งการเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเองแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการตามนโยบายของ ธปท.คือ ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำลูกหนี้บัตรเครดิตจากเดิม 10% โดยอัตโนมัติให้เป็น 5% ในปี 63 และปี 64 เป็น 8% ในปี 65 และเป็น 10% ในปี 66 และโครงการเพิ่มเติมปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล โดยให้แบ่งชำระรายเดือน ระยะเวลา 48 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยลง 6% หรือจาก 18-28% เหลือ 12-22%

ทั้งนี้ ตามที่สอบถามธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ยืนยันว่าได้ดำเนินการแล้ว เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการแล้วกว่า 700,000 ราย ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ได้ช่วยผู้ประกอบการแล้วกว่า 200,000 ราย วงเงิน 180,000 ล้านบาท และช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยไปแล้ว 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้านบาท”

คืนค่ามิเตอร์-ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าก๊าซ

มาตรการต่อไป การคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยในส่วนของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ได้เริ่มทยอยจ่ายคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้ายื่นเรื่องขอคืน 5,213,489 ราย จ่ายคืนแล้ว 3,139,888 ราย รวมเป็นเงิน 3,896,027,723 บาท ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้จ่ายคืนแล้วรวม 1.1 ล้านราย วงเงินรวม 3,125 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กฟน.และกฟภ.ยังลดค่าไฟฟ้าอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทรวม 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) รวมทั้งขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และที่ให้เช่าพักอาศัยระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ออกไปเป็นต้องชำระล่าช้าได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่คิดค่าปรับดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่ผ่อนผัน

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังได้ปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน 45 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี 3 บาทต่อกิโลกรัมให้กับรถโดยสารสาธารณะเป็นเวลา 3 เดือน และตรึงราคาเอ็นจีวีออกไปอีก 5 เดือน นับจากเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป

ขณะที่การบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้น้ำ หนึ่งในมาตรการหลักคือ การคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำนั้น หลังจาก การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เปิดให้ผู้ใช้น้ำลงทะเบียนผ่าน www.pwa.co.th หรือที่แอปพลิเคชัน PWA1662 หรือไลน์ @PWAThailand วันแรกเมื่อวันที่ 15 เม.ย.63 ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 356,693 ราย จากผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ 3.8 ล้านราย เริ่มคืนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.63 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กปภ.ยังลดค่าน้ำประปา 3% ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) รวมถึงขยายเวลาชำระค่าน้ำประปาให้ผู้ใช้น้ำประเภทโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน ในเดือน เม.ย.-พ.ค.63 โดยไม่มีการตัดมิเตอร์น้ำ

ในส่วนการประปานครหลวง (กปน.) มีมาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภท 1 ที่พักอาศัย (R1) รวมถึงคอนโดฯ อาคารชุด ห้องเช่า นิติบุคคล โดยได้เปิดให้ผู้ใช้น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่มีชื่อตรงกับผู้วางเงินประกันการใช้น้ำ ตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนที่ www.mwa.co.th หรือแอปพลิเคชัน MWA onMobile หรือ Line OA : @MWAthailand ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดระยะเวลา

นอกจากนี้ กปน.ยังมีอีก 3 มาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้น้ำ ได้แก่ ยกเว้นการตัดน้ำ ทั้งมาตรชั่วคราวและถาวร งดการผูกลวด และงดการถอดมิเตอร์น้ำ 2 เดือน ลดค่าน้ำประปา 3% ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน เดือน พ.ค.-ก.ค.63 และขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม และกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผ่อนชำระได้นานถึง 6 เดือน เดือน พ.ค.-มิ.ย.63

ประกันสังคมพร้อมจ่ายชดเชยว่างงาน

มาตรการเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง มาตรการสุดท้ายที่ติดตามในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนี้

1.การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และลูกจ้างมาตรา 33, มาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งจะมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์รวม 13,346,143 ราย โดยมาตรา 33 (มีนายจ้าง) นายจ้างจ่ายสมทบเหลือ 4% จากปกติ 5% ส่วนลูกจ้าง จ่ายสมทบ 1% ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ไม่มีนายจ้าง) ลดการส่งเงินสมทบจาก 221 บาท/เดือน เป็น 86 บาท/เดือน

2.ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับงวดเดือน มี.ค.-พ.ค.63 ออกไปอีก 3 เดือน กรณีนี้มีนายจ้างได้รับประโยชน์ 488,226 ราย และผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับประโยชน์ 1,653,714 ราย

3.การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย นอกจากกิจการที่ภาครัฐสั่งให้ “หยุดชั่วคราว” รวมไปถึงกรณีว่างงานเนื่องมาจากกรณี “ถูกเลิกจ้าง” และ “ลาออกเอง” โดยกิจการที่อยู่ในกลุ่มนี้จะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างว่างงานจำนวนมาก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการเดินทาง ทำให้นายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราว และลูกจ้างไม่มีงานทำ

โดยล่าสุด กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินชดเชยที่ 62% ของรายได้รายวัน แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนนี้ โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชย 5,045-9,300 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันว่างงานมีเงินรวม 160,000 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกันตนที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยบางราย ที่ได้รับเงินชดเชยน้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือนนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ผู้ประกันตนในกลุ่มนี้ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ต้องเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

ผู้ประกันตนที่เข้าข่ายจะได้รับเงินชดเชยข้างต้น ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากส่งเงินสมทบไม่ต่อเนื่อง ให้พิจารณาการส่งเงินในรอบ 15 เดือน ซึ่งรวมแล้วต้องส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่แม้สถานประกอบการจะหยุดทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ ถือว่าเป็นผู้ประกันตนที่ “ไม่เข้าข่าย” จะได้รับเงินชดเชย เพราะถือว่าธุรกิจยังมีสภาพคล่อง

โดยล่าสุด กระทรวงแรงงานยืนยันว่า ขณะนี้มีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่า 1 ล้านคน จากทั้งหมด 11 ล้านคน หากทุกคนใช้เงินชดเชย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อเดือน รวม 3 เดือน 21,000 ล้านบาท ล่าสุด มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงานมาลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยแล้วมากกว่า 500,000 ราย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ