สมคิด โต้กลับแนวคิด อ.ธรรมศาสตร์ ลั่นถ้าแจกเงินทั้งประเทศ ต้องกู้ยันตาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมคิด โต้กลับแนวคิด อ.ธรรมศาสตร์ ลั่นถ้าแจกเงินทั้งประเทศ ต้องกู้ยันตาย

Date Time: 16 เม.ย. 2563 19:00 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • สมคิด โต้กลับแนวคิดนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ลั่นถ้าแจกเงินทุกคนในประเทศต้องกู้ยันตาย ระบุกู้เงิน 1 ล้านล้านดูแลประชาชนเป็นเรื่องปกติ ย้ำมีเงินจ่าย 5,000 บาท ไม่ขาดตอน

สมคิด โต้กลับแนวคิดนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ลั่นถ้าแจกเงินทุกคนในประเทศต้องกู้ยันตาย ระบุกู้เงิน 1 ล้านล้านดูแลประชาชนเป็นเรื่องปกติ ย้ำมีเงินจ่าย 5,000 บาท ไม่ขาดตอน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีงบประมาณโดยตรงในการดูแลประชาชนที่เดือดร้อน เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา โดยงบประมาณที่มีอยู่จึงเป็นงบประมาณตามปกติ เช่น ประเทศไทยมีงบกลาง เป็นต้น ซึ่งพอมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศก็หันมาใช้การกู้ยืมเงิน เพื่อมาดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาฯ หรือ สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยก็ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขึ้นมาดูแลประชาชนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.63 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า หนี้สาธารณะทั้งหมดของโลกจะสูงมากทั้งในปีนี้และในปีหน้า แต่ยังสนับสนุนให้แต่ละประเทศกู้เงินมาดูแลประชาชน ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้แล้ว จึงได้รีบออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทออกมาในเวลาที่พอดีกับสถานการณ์ที่ต้องใช้เงิน

โดยเงินที่ดูแลประชาชนในขณะนี้มาจากงบกลาง ซึ่งเป็นงบปกติของปี 2563 โดยรัฐบาลวางแผนว่าในช่วงเดือน พ.ค.ถึงกลางเดือนพ.ค.นี้ จะสามารถกู้ยืมเงินได้ ซึ่งการกู้เงินนั้น จะไม่กู้เงินมากองไว้ แต่จะกู้เงินมาจะสอดคล้องกับงบประมาณปกติที่กำลังหมดลง ซึ่งจะสานต่อกันพอดี ทำให้เงินจะไม่ขาดตอน โดยเฉพาะเงินที่นำมาเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนงานการก่อหนี้ของรัฐบาล

ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ ไทยต้องไปรอดแน่นอน เนื่องจากทุกมาตรการออกมาในจังหวะที่ดี แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบ และทำงานตามขั้นตอนของตัวเอง ช่วงนี้ทุกคนต้องฝ่าไปให้ได้ ล่าสุดมีข่าวดี คือ ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือไม่ถึง 30 รายต่อวันแล้ว ถ้าอดทนได้อีก 1 เดือน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคน่าจะดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่อยากให้รีบปลดล็อคมาตรการที่คุมเข้มต่างๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย.นี้ ได้หารือกับภาคเอกชนแล้วว่า ถ้ารีบปลดล็อคเร็วเกินไป ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งมาใหม่ ซึ่งทุกอย่างจะต้องเริ่มกันใหม่กันหมด

สำหรับกรณีที่กลุ่มนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้จ่ายเงินเยียวยา จำนวน 3,000 บาท 3 เดือนให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 แทนการแจกเงิน 5,000 บาท ให้กับประชาชนทั้ง 9 ล้านคน นายสมคิด กล่าวว่า ถ้าจะแจกเงินให้ทุกคนก็ต้องกู้ยันตาย

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ภาวะที่เศรษฐกิจหยุดนิ่ง ทำให้คนเดินทางกลับบ้านจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้หารือร่วมกับเครือ ปตท. เครือไทยเบฟ เซเว่นอีเลฟเว่น และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ถึงการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อให้คนที่กลับบ้านต่างจังหวัดมีงานทำ ซึ่งธ.ก.ส.เตรียมแผนงานไปพอสมควร แล้วในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยจะให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ชี้นำการผลิตและให้สินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเงินทุน

โดย ปตท.จะให้ความร่วมมือในการกระจายสินค้าผ่านปั๊มน้ำมัน ทุกสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในปั๊ม ปตท.ยังมีเซเว่นอีเลฟเว่น เคอรี่ เอ็กซ์เพรสและไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทในการขนส่งพัสดุ ดังนั้นปตท.จะเป็นจุดช่วยกระจายสินค้าต่างๆ เป็นอย่างดี โดยขณะนี้กำลังดูว่าจะผลิตสินค้าอะไร แบบไหนได้บ้าง เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และทำให้คนที่กลับไปยังท้องถิ่นมีงานทำ

ส่วนในการเยียวยา 5,000 บาทนั้น รัฐบาลพยายามดูแลทุกกลุ่ม อาทิ แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง เมื่อลงทะเบียนไปแล้วไม่ได้รับเงิน ก็สามารถมาขออุทธรณ์ได้ ส่วนคนที่ไม่ควรจะได้ แต่มีรายได้เพียงพอ ดูแลตัวเองได้ ควรให้สิทธิ์คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ไปก่อน ถ้ามีรายได้ดีแล้วยังจะเอาไปอีก คงไม่มีรัฐบาลไหนดูแลประชาชนได้ครบทุกกลุ่มขนาดนั้น ดังนั้นต้องให้คนที่ด้อยโอกาสก่อน ซึ่งรัฐบาลจะมีการตรวจสอบสถานะรายได้ ส่วนในการให้เงินเกษตรกรนั้น ถ้าคนในครอบครัวประกอบอาชีพอื่นและได้รับการช่วยเหลือแล้วจะต้องตัดทิ้ง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ