ถ้า อย. (สนง.อาหารและยา) ออกใบอนุญาตให้ผลิตหน้ากากอนามัยได้ตามที่คาด วันนี้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพี ที่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนไป 100 ล้านบาท เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยแบบ surgical mask แจกฟรีให้แพทย์พยาบาลทั่วประเทศที่ขาดแคลน ผ่านทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะเริ่มเดินเครื่องเป็นวันแรก ผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 100,000 ชิ้น เดือนละ 3 ล้านชิ้น ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติที่ปลอดเชื้อทุกขั้นตอนจนกระทั่งบรรจุซอง บรรจุแพ็ก บรรจุลังเข้า โกดัง โดยไม่แตะต้องมือมนุษย์เลย
เป็นโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่ทันสมัยที่สุดตามนโยบายของเจ้าสัวธนินท์
เจ้าสัวธนินท์ ตั้งใจจะยกโรงงานแห่งนี้ให้กับ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อหารายได้ให้กับศูนย์โรคหัวใจ แต่เนื่องจาก รพ.จุฬาฯ เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่สะดวกที่จะบริหารธุรกิจโรงงาน เจ้าสัวธนินท์ เลยจะเปลี่ยนเป็น Social Enterprise บริษัทเพื่อสังคม ผลิตหน้ากากอนามัยระดับคุณภาพออกจำหน่ายในราคาถูกในอนาคต รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับ ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ เหมือนเดิมตามที่ตั้งใจไว้
ก่อนหน้านี้ เจ้าสัวธนินท์ ให้สัมภาษณ์สื่อตอนเปิดให้ชมโรงงานว่า
เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเรากักตัวอยู่บ้าน ไม่เอาเชื้อไปแพร่ต่อประเทศไทยก็จะฟื้นได้เร็ว ทุกคนจะได้ประโยชน์ ประเทศไหนฟื้นได้ก่อน เราก็จะได้ขายสินค้าไปก่อน การท่องเที่ยวจะกลับมาก่อน แต่ทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐบาล
เจ้าสัวธนินท์ เล่าถึงการรับมือ ไวรัสโควิด-19 ของจีนว่า เฉียบขาดมาก มีประสบการณ์ตั้งแต่โรคซาร์ส รู้ว่าอันตรายมาก ถ้าไม่จัดการให้จบจะเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้ปิดเมืองแล้ว แต่พวกที่ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านอย่าง ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไม่จำเป็นต้องออกมา ถ้าขาดแคลนอะไร เอาไปส่งให้ถึงหมู่บ้าน พวกที่จำเป็นก็ออกมา ให้ใส่หน้ากากป้องกันตัวเองให้ดี
สิ่งที่ เจ้าสัวธนินท์ พูด แม่นดั่งตาเห็น สองเดือนแรกของปีนี้ ตอนที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดหนักในจีนและแพร่ไปทั่วโลก มีการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นถึง 8,950 โรง โรงงานสิ่งทอ โรงงานรถยนต์ ก็หันมาผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก วันนี้จีนผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 116 ล้านชิ้น
แม้ตอนนี้การระบาดในจีนซาลงแล้ว แต่รัฐบาลจีนยังคุมเข้มให้ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน ความต้องการจึงยังสูง นอกจากนี้จีนยังเร่งผลิตเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก ทั้งหน้ากากอนามัยสีเขียว หน้ากากอนามัย N95 ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก ทั้งใน สหรัฐฯ ยุโรป จึงขายได้ราคาแพง ทำกำไรมหาศาลให้กับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเหล่านี้
ขณะที่ ประเทศไทยยังพึ่งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ 11 แห่งเท่าเดิม ไม่มีการเร่งส่งเสริมให้ตั้งโรงงานใหม่ มิหนำซ้ำ กระทรวงพาณิชย์ ยังประกาศให้ หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ต้องขายในราคาที่กำหนด จะนำเข้าส่งออกต้องขออนุญาต แม้จะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ชั่วคราว แต่การควบคุมสินค้าและราคาขาย ทำให้หน้ากากอนามัยยังขาดแคลนอย่างหนัก ราคาแพงขึ้นหลายเท่า แพทย์และประชาชนยังหาซื้อไม่ได้ เกิดการกักตุน เสียเวลาเสียคนไปไล่จับกุมฟ้องร้องคดีอีก
ถ้า กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกเป็นสินค้าควบคุมเมื่อไหร่ และ ให้นำเข้าเสรี รับรองว่าหายขาดแคลนแน่นอน หน้ากากอนามัยจะท่วมประเทศไทยเลย
การค้าเสรี คือการแข่งขัน แต่การควบคุม คือการผูกขาด ยิ่งมีอำนาจรัฐบังคับให้ขอใบอนุญาตก็ยิ่งมีปัญหา ผมก็ฝาก นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปคิดเป็นการบ้าน เปิดเสรีหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์สักพัก รับรองว่าท่วมตลาดแน่นอน.
ลม เปลี่ยนทิศ