The Issue : ธนินท์กับโรงงานผลิตหน้ากาก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : ธนินท์กับโรงงานผลิตหน้ากาก

Date Time: 14 เม.ย. 2563 05:00 น.

Summary

  • อีกเพียง 2 วันเท่านั้น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ทุ่มทุนสร้างโดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ก็จะเปิดดำเนินการเดินเครื่องสายการผลิต

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

...อีกเพียง 2 วันเท่านั้น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ทุ่มทุนสร้างโดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ก็จะเปิดดำเนินการเดินเครื่องสายการผลิต

โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.พระประแดง สมุทรปราการแห่งนี้ เป็นโรงงานเก่าที่ถูกเนรมิตขึ้นภายใต้กรอบเวลาต้องแล้วเสร็จใน 5 สัปดาห์ ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันศุกร์ที่ 10 เม.ย. ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทดสอบการเดินเครื่อง (test run) ก่อนจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 16 เม.ย.2563

ในวันทดสอบเดินเครื่อง ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสกลุ่มซีพี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกลุ่มย่อยผ่านแอปพลิเคชัน True Virtual World เปิดเผยถึงปัญหาและอุปสรรคตลอด 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เขาเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณทีมงานซีพีราว 300 คนที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ที่ทำงานได้สำเร็จลุล่วง “ขอบคุณที่ทำให้ผมไม่ผิดคำพูด” จากนั้นจึงเล่าว่า ขณะนี้โรงงานมีเครื่องจักร 3 เครื่อง แต่หากสามารถเพิ่มเป็น 4 เครื่อง กำลังการผลิตจะเพิ่มได้อีกเท่าตัว (ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่เดือนละ 3 ล้านชิ้น)

หน้ากากที่ผลิตได้ทั้งหมดจะถูกส่งมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะการปกป้องหมอ-พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่

“ส่วนจุฬาฯจะแจกจ่ายอย่างไร ก็แล้วแต่ หากติดขัดเรื่องการขนส่ง ทางซีพีพร้อมช่วย ขอให้บอกมา เพราะเมื่อตั้งใจสนับสนุนแล้ว ต้องทำให้ถึงที่สุด หากการระบาดยืดเยื้อสามารถช่วยเหลือต่อได้ งบประมาณไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 100 ล้านบาท เพิ่มได้ เมื่อวิกฤติคลี่คลายจะส่งมอบโรงงานให้ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ศูนย์หัวใจหารายได้จากการจำหน่ายหน้ากากในราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด”

“ผมถือเป็นหน้าที่ เราอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยของพระมหากษัตริย์ ทำมาหากินบนแผ่นดินนี้ จึงได้มีวันนี้”

ประธานอาวุโสกลุ่มซีพียังยกย่องรัฐบาลจีนที่ยอมขายวัตถุดิบหายากและเครื่องจักรให้ เพราะหลังการแพร่ระบาดรุนแรงทั่วโลก ทุกประเทศสั่งห้ามส่งออกวัตถุดิบเพื่อการผลิตหน้ากากอนามัย รวมทั้งเครื่องจักร ต้องใช้เพื่อการผลิตในประเทศเท่านั้น

“ทางจีนมีสิทธิไม่ให้เอาเครื่องจักรออก ไม่ขายวัตถุดิบให้ แต่เขาก็อนุญาตสำหรับประเทศไทย วัตถุดิบสำคัญที่เราผลิตไม่ได้คือไส้กรองเชื้อโรค (Melt-blown) แผ่นบางๆอยู่ชั้นกลางของหน้ากาก (หน้ากากอนามัยมี 3 ชั้น) ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศห้ามส่งออก มีจีนที่ยอมขายให้เรา”

พอแก้ปัญหาทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ก็เจออุปสรรคด้านการขนส่งอีก เครื่องบินหยุดบิน จนต้องตัดสินใจเช่าเหมาลำ เพื่อให้เครื่องจักรมาถึงได้ตามกำหนด เปิดให้ทันวันที่ 16 เม.ย.

ความพิเศษของโรงงานแห่งนี้ยังอยู่ที่การออกแบบกระบวนการผลิตที่แทบไม่ผ่านมือมนุษย์ เป็น Contact Less ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด กระบวนการผลิตจะใช้แรงงานเฉพาะขั้นตอนแรก คือการแกะวัตถุดิบออกจากฟิล์มที่ใช้หุ้ม ซึ่งต้องทำในห้อง Clean Room ตามมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์

หลังจากนั้นจะใช้ระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การจับจีบ ทำลอน ตัดเป็นชิ้น ใส่ลวดปลายจมูก ติดหู ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ การบรรจุใส่ซอง

ต่อเรื่องนี้ ศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านวิศวกรรมกลางอาหารของซีพีเอฟ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในบางขั้นตอนทางซีพีต้องออกแบบเอง เช่น เครื่องพับหูหน้ากากก่อนบรรจุใส่ซอง เพราะไม่ต้องการให้ผ่านมือคน ขณะที่ขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งปกติใช้คนเช่นกัน เปลี่ยนเป็นใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบคุณภาพผ่านกล้อง โดยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้จากภาพถ่ายหน้ากากที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เช่น เบี้ยว ผิดสัดส่วน ฉีกขาด หากชิ้นไหนผิดมาตรฐานก็จะถูกแยกออกไป ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์จำนวนคนงานประจำโรงงานจึงมีเพียง 10 คน รองรับการผลิต 24 ชั่วโมง ใช้คนงานผลัดละ 3 คน เฉพาะเวลาเปลี่ยนวัตถุดิบ

ศักดิ์ชัยเล่าอีกว่า โปรเจกต์พิเศษครั้งนี้ใช้บุคลากรรวม 300 คน แต่ละทีมแยกกันทำงานไปพร้อมๆกัน จนแล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ จากที่ควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาต้องรับผิดชอบโปรเจกต์พิเศษเช่นนี้ จึงเรียกได้ว่ามีประสบการณ์และองค์ความรู้พอตัว

ส่วนปัญหาในขณะนี้ คือการแสวงหาแหล่งผลิต Melt-blown เพิ่มเติม นอกเหนือจากจีน โดยประเทศผู้ผลิต Melt-blown อื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล เป็นต้น รวมทั้งเตรียมเสริมเครื่องจักรเครื่องที่ 4 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น

...ในอีก 2 วันข้างหน้า เชื่อว่าทุกอย่างจะพร้อมสำหรับพิธีเปิด เบื้องต้นซีพีจะดำเนินการเป็นการภายใน เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งรัฐบาล ที่ให้หยุดกิจกรรมชุมนุมของคนหมู่มาก จึงจัดเป็นพิธีขนาดเล็ก ประกอบด้วยผู้บริหารไม่กี่คน แต่แน่นอนต้องมีธนินท์ เจียรวนนท์ บุตรทั้ง 2 คือ สุภกิตและศุภชัย เจียรวนนท์ และคาดว่าจะสามารถทยอยส่งมอบหน้ากากลอตแรกภายใน 1-2 วัน หลังเปิดอย่างเป็นทางการ.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ