"ศักดิ์สยาม" กำชับผู้ว่า รฟท. สานต่องานทลายขีดจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"ศักดิ์สยาม" กำชับผู้ว่า รฟท. สานต่องานทลายขีดจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพ

Date Time: 13 เม.ย. 2563 11:40 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • "ศักดิ์สยาม" กำชับผู้ว่ารถไฟคนใหม่ เร่งเดินหน้าสานต่องาน ทลายทุกข้อจำกัด ควบคู่ธรรมาภิบาลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพที่สุด ด้าน “นิรุฒ” เด้งรับแก้วิกฤติโควิด-19 และดูแลสวัสดิภาพคนรถไฟให้ดีขึ้น

Latest


"ศักดิ์สยาม" กำชับผู้ว่ารถไฟคนใหม่ เร่งเดินหน้าสานต่องาน ทลายทุกข้อจำกัด ควบคู่ธรรมาภิบาลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพที่สุด ด้าน “นิรุฒ” เด้งรับแก้วิกฤติโควิด-19 และดูแลสวัสดิภาพคนรถไฟให้ดีขึ้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าพบว่า หลักในการทำงานที่ตนให้นโยบายกับผู้ว่า รฟท.คนใหม่ ที่มาหารือคือ ให้ทำงานสานต่อโครงการที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ดำเนินการอยู่ตามเป้าหมายด้วยหลักธรรมภิบาล โปร่งใส รวมทั้งให้เร่งรัดการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงให้มีการประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมงาน พนักงาน รฟท. แบบทลายทุกข้อจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ ไร้ปัญหา หรือให้เกิดน้อยที่สุด ที่สำคัญการทำงานต้องอยู่บนพื้นฐานระเบียบข้อกฎหมายเป็นหลักสำคัญ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ครม.ได้มีมติแต่งตั้งตนให้เข้าดำรงตำแหนงผู้ว่า รฟท.คนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือรอเข้าเซ็นสัญญาคาดว่าน่าจะภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์หน้า ซึ่งงานแรกที่จะเข้ามาทำงานตนจะขอพบพนักงาน รฟท. และ สหภาพ รฟท. ก่อนเพื่อทำความรู้จักกันและเข้าใจสิ่งที่ตนจะเข้ามาทำงานร่วมด้วย โดยเป้าหมายแรกที่สำคัญของตน คือ การเข้ามาดูแลปรับปรุงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่พนักงาน รฟท.ควรจะได้รับ ซึ่งตนต้องการที่ให้พนักงาน รฟท.มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากพนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดัน รถไฟไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และเป็นตัวจักรสำคัญในการหารายได้ บริการการคมนาคมขนส่งคนทุกประเภททั่วประเทศ

ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นตนจะเข้ามาดูแลในเรื่องของการแก้ไขปัญหา ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง พร้อมจัดสุขอนามัยที่ดีให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปโดยเร็ว ในส่วนของการให้บริการในช่วงที่มีโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ก็จะต้องจัดขบวนรถให้บริการเท่าที่จำเป็น หากจะหยุดให้บริการเลยก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรถไฟถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ส่วนการสานงานต่อในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ รฟท.ดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบิน นั้นจะยังคงเดินหน้าสานต่องานเดิมที่มีให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

"ไม่ได้รู้สึกหนักใจกับปัญหาภาวะขาดทุน เนื่องจากเป้าหมายในการทำงานต้องการเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว โดยขอเวลาศึกษารายละเอียดงานทั้งแผนฟื้นฟู เพื่อที่จะให้ รฟท.เดินหน้าพ้นจากปัญหาการขาดทุนสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากลงนามในสัญญาจ้างกลางเดือน เม.ย.นี้ก็จะเริ่มงานทันทีเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการมากมาย" ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าว

สำหรับโครงการสำคัญของ รฟท.ที่ต้องเร่งดำเนินงานนั้น แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา), โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และงานเดินรถ และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งนี้ ในส่วนโครงการที่เตรียมเปิดประมูลและผลักดันให้ ครม.เห็นชอบ ได้แก่ รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 4 ช่วง คือ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก
     
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม, รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 493,149 ล้านบาท     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิรุฒ เตรียมที่จะเข้าเซ็นสัญญาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งที่ รฟท. วันแรกในวันที่ 24 เม.ย. 63 นี้เพื่อเข้ามาสานงานต่อโครงการที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีพนักงาน รฟท.ติดเชื้อและต้องมีการกักตัวอยู่จำนวนหนึ่ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ