นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ปลายเดือน พ.ค.นี้ คาดว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการใช้งบกลาง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากไวรัสโควิด-19 โดยประเมินว่า งบกลางที่ดึงกลับมาได้ 80,000-100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีงบกลางเหลืออยู่เพียง 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้จัดทำเส้นเวลาหรือ Timeline เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยวางแผนที่จะตัดเงินงบประมาณของส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า (13-17 เม.ย.) แม้ว่าจะมีข้าราชการส่วนหนึ่งอ้างว่า ทำงานที่บ้านเนื่องจากโควิด-19 ก็ตาม แต่ไม่ใช่ทำงานที่บ้านทุกคนและไม่มีคนรับผิดชอบ ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. มีมติให้ส่วนราชการพิจารณาโอนเงินงบประมาณแล้ว ซึ่งหากส่วนราชการไม่สามารถพิจารณาโอนงบประมาณมาให้สำนักงบประมาณได้ สำนักงบฯจะเข้าไปตัดงบเอง
อย่างไรก็ตามในวันอังคารที่ 21 เม.ย.นี้ สำนักงบประมาณจะนำเสนอเรื่อง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ให้ ครม.พิจารณาและหลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยในช่วงกลางเดือน พ.ค.ประมาณวันที่ 21 พ.ค.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งหากการพิจารณาผ่านวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 ภายในวันเดียว จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาฯ คาดว่าปลายเดือน พ.ค.นี้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ จะสามารถประกาศใช้ได้
นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เงินงบประมาณที่โอนมาจากส่วนราชการจะบรรจุอยู่ในงบกลางทั้งหมด เท่าที่ประเมินจะนำมาใช้จ่ายในเรื่องการเยียวยาแจกเงินคนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงิน 30,000 บาทต่อคน หากมีประชาชนได้รับสิทธิ์ 9 ล้านคน จะต้องใช้เงิน 270,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้งบกลางที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้จัดสรรเป็นงบแจกประชาชน 5,000 บาทไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 45,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจาก พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณฯ และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท.