นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สภาองค์การฯกำลังติดตามแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศไทย ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนแอโดยพบว่าเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 14 คลัสเตอร์ ยังคงมีมูลค่าส่งออกติดลบต่อเนื่อง นับจากสิ้นปีที่ผ่านมา อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก และเครื่องสำอาง เป็นต้น ดังนั้น หากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงยืดเยื้ออีก 1-2 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบให้กิจการในคลัสเตอร์ดังกล่าว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีอาจต้องมีการปิดตัวลง และไม่อาจรักษาอัตรากำลังการจ้างงานไว้ได้
“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานที่ตกงานส่วนใหญ่เป็น ในส่วนของคลัสเตอร์ท่องเที่ยวและภาคการบริการ ค้าปลีกห้างร้านต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ตัวเลขตกงานขณะนี้อยู่ระดับ 7 ล้านคน ขณะที่มีภาคการผลิตเฉลี่ย จะมีแรงงานอีก 6.1 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้นายจ้างก็พยายามประคับประคองกิจการไว้อย่างสุดความสามารถ แต่อาจจะมีปิดกิจการและลดคนงานไปบ้างแล้ว”
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานในภาคการเกษตรอีก 9 ล้านครัวเรือนหรือ 12 ล้านคน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ ซึ่งคงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะในอดีตภาคการเกษตรของไทยมีส่วนสำคัญในการรองรับนักศึกษาจบการศึกษาใหม่ในแต่ละปี และคนว่างงานจากภาคธุรกิจอื่นๆให้ไปทำงานในภาคนี้ได้ แต่ปีนี้พบว่าภาคเกษตรของไทยก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งไปสัมพันธ์กับการส่งออก เช่น ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ฯลฯ ที่จะพบว่าการส่งออกมีทิศทางที่ติดลบเช่นกัน.