ประกันสังคม ตอบ 16 คำถาม แบบไหนได้รับเงินชดเชยว่างงานจาก "โควิด-19"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประกันสังคม ตอบ 16 คำถาม แบบไหนได้รับเงินชดเชยว่างงานจาก "โควิด-19"

Date Time: 11 เม.ย. 2563 20:10 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ประกันสังคม รวมคำถาม-คำตอบ ไขข้อสงสัย กรณีว่างงานจากสถานการณ์ "โควิด-19" แบบไหนเข้าเงื่อนไขได้รับเงินชดเชยว่างงาน

Latest


ประกันสังคม รวมคำถาม-คำตอบ ไขข้อสงสัย กรณีว่างงานจากสถานการณ์ "โควิด-19" แบบไหนเข้าเงื่อนไขได้รับเงินชดเชยว่างงาน

จากกรณี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ที่ส่งผลให้หลายอาชีพต้องหยุดงาน และถูกจ้างออกเป็นจำนวนมากนั้น สำหรับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือผู้ประกันตนเอง จะมีสิทธิได้การช่วยเหลือ ทั้งการได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน กรณีต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ แฟนเพจ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้รวบรวมคำถามที่สถานประกอบการและผู้ประกันตนสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนี้

1. นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดกักตัว 14 วัน เพราะมีความเสี่ยง สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลืออะไรบ้าง (ลูกจ้างไม่ได้ป่วยแต่โดนกักตัวเพราะมีความเสี่ยง และนายจ้างให้หยุดงาน)

คำตอบ นายจ้างไม่ให้ทำงาน ให้กักตัว 14 วัน เพราะมีเหตุสงสัยหรือควรสงสัยว่าลูกจ้างอาจเป็นโรคโควิด-19 และไม่จ่ายค่าจ้าง

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ตามที่นายจ้างรับรองการหยุดงาน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคมีคำสั่งให้กักตัว แต่ไม่เกิน 90 วัน (อยู่ระหว่างแก้กฎหมายตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ม.79/1)

ทั้งนี้ แนะนำให้นายจ้างและลูกจ้างลงทะเบียนผ่าน e-form กรณีว่างงานทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ได้ดังนี้

- (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน) แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (e-form for unemployment benefit) กรณีหยุดงานเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ นายจ้างสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือท่านหยุดเนื่องจากต้องกักตัวเอง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคระบาด กรอกแบบฟอร์ม คลิกที่นี่

(สำหรับนายจ้าง) แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรับรองช่วงเวลาการหยุดงานของลูกจ้าง กรอกแบบฟอร์ม คลิกที่นี่

ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จะต้องมีสถานะความเป็นลูกจ้างและความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลง (ยังไม่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง) และส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนประสบเหตุ

หากตรวจสอบข้อมูลแล้วครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

2. ลูกจ้างหยุดงานเพื่อกักตัว 14 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จะได้รับสิทธิอะไรบ้าง

คำตอบ ได้รับเงินว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 90 วัน (อยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ม.79/1) เมื่อลูกจ้างมีการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนกักตัว และนายจ้างออกหนังสือรับรองให้หยุดงาน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณา

3. บริษัทให้หยุดงานเนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นเวลา 14 วันตามที่รัฐบาลสั่งฯ ลูกจ้างเสียวันลาหรือไม่

คำตอบ กรณีที่บริษัทหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของรัฐ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ จึงมิใช่การลาหยุดงานปกติจึงไม่ถือเป็นวันลา

4. สถานประกอบการถูกสั่งปิด 18-31 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นายจ้างจะได้รับการยกเว้นการนำส่งเงินสมทบในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่

คำตอบ ถ้าในเดือนมีนาคม 2563 มีการจ่ายค่าจ้างมาก่อนแล้วรัฐมีคำสั่งปิด นายจ้างต้องนำส่งเงินสมทบของเดือนมีนาคม 2563 ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบออกไปอีก 3 เดือน

5. ผู้ประกันตนมาตรา 38 ได้รับความคุ้มครอง 6 เดือนจากประกันสังคม และหยุดงาน 14 วัน จะได้รับสิทธิว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และหากชำระเงินสมทบเพียง 3 เดือนใน 15 เดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานหรือไม่

คำตอบ กรณีผู้ประกันตนมาตรา 38 ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ได้รับความคุ้มครองต่อ 6 เดือน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพและตาย ไม่มีสิทธิได้รับกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

กรณีว่างงานจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนใน 15 เดือน หากส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ไม่ได้รับสิทธิว่างงานเช่นกัน แต่ระหว่างได้รับความคุ้มครอง 6 เดือน หากลูกจ้างติดเชื้อโควิด-19 สามารถใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยได้ โดยได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

และหากแพทย์ให้พักรักษาตัว จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตามมาตรา 57 ครั้งหนึ่งไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน

6. ผู้ประกันตนไม่ถูกเลิกจ้างหรือหยุดงาน แต่ถูกลดเงินเดือน จะได้รับสิทธิใดจากสำนักงานประกันสังคม

คำตอบ ผู้ประกันตนมีสถานะเป็นลูกจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

7. ผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ได้มีอาชีพและไม่ทำงาน สามารถยื่นขอรับสิทธิการเยียวยา เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

คำตอบ

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ไม่คุ้มครองกรณีว่างงานจะไม่ได้รับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่มีอาชีพ ไม่ทำงาน ทั้ง 3 ทางเลือก ไม่มีการประกันการว่างงานเช่นกัน จึงไม่มีสิทธิได้รับกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิเยียวยาของกระทรวงการคลัง ได้ที่ เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หากมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จะได้รับสิทธิดังกล่าว

8. นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินเดือน/ค่าจ้าง ให้พนักงานครึ่งหนึ่ง พนักงานสามารถไปกรอกแบบฟอร์มกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่และมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมหรือไม่

คำตอบ ผู้ประกันตนยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กรณีว่างงานตามกฎกระทรวง

9. ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถยื่นขอรับสิทธิการเยียวยาเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ภายในระยะเวลากี่ปี

คำตอบ ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ

10. กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานและจ่ายเงินค่าจ้างให้ 75% เพราะเหตุสุดวิสัย สำนักงานประกันสังคมจะเยียวยาให้อย่างไร

คำตอบ กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างถือว่าผู้ประกันตนมีรายได้ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างเพื่อนำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างตามกฎหมาย

11. หากนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือนให้ และไม่ออกใบรับรองให้ลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร

คำตอบ กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ใกล้บ้าน แต่หากลูกจ้างประสบเหตุสุดวิสัยจริง ควรแจ้งให้พนักงานควบคุมโรคทราบ และแจ้งสำนักงานประกันสังคมให้ประสานนายจ้างเพื่อชี้แจงในการออกหนังสือรับรอง

12. นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างและไม่มีการแจ้งออกจากงาน ลูกจ้างควรทำอย่างไร และจะได้รับสิทธิอะไร จากสำนักงานประกันสังคมบ้าง

คำตอบ ลูกจ้างยังคงทำงานแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด

กรณีไม่มีการจ้างงาน และนายจ้างไม่แจ้งออกจากระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ติดตามนายจ้างให้ดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์

13. กรณีรัฐสั่งให้กักตัว นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคม ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันหรือไม่

คำตอบ สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 90 วัน เมื่อลูกจ้างมีการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนภายใน 15 เดือน ก่อนรัฐสั่งให้กักตัว และนายจ้างออกหนังสือรับรองให้หยุดงานตามหลักเณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณา

14. กรณีจ่ายเงินสมทบไม่ครบหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการรับสิทธิว่างงาน มีสิทธิได้รับเงินว่างงานหรือไม่

คำตอบ ไม่มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ ซึ่งประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

15. กรณีลูกจ้างเข้าทำงานได้ 2 เดือน ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในนามของบริษัทฯ แต่แผนกที่ทำถูกสั่งปิด ลูกจ้างต้องหยุดงาน 21 วัน และยังเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งหรือไม่ และสามารถยื่นเบิกสิทธิการเยียวยาด้วยสาเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่

คำตอบ ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิกรณีว่างงานด้วยเหตสุดวิสัย เนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน การจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งหรือไม่นั้น อยู่ในอำนาจของนายจ้าง

ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเยียวยาในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้

16. นายจ้างให้ลูกจ้างลาป่วยจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร

คำตอบ นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างการลาป่วย 30 วัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานครบ จะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหากลาป่วยเกิน 30 วัน สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยตามที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 9 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากเจ็บป่วยเรื้อรังเกิน 365 วัน ตามที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ