ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ เผยอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยปี 2563 ตระกูล “เจียรวนนท์” นำโด่งคว้าแชมป์รวยอันดับ 1 แม้จะควักเม็ดเงินไปซื้อกิจการเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย 1.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังมีมูลค่าทรัพย์สินร่วม 2.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ “เฉลิม อยู่วิทยา” เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลังพอมีกำไรตามมาติดๆเป็นอันดับ 2 รวยเพิ่มนิดหน่อย 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ถึงจะยอดฮวบมี 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯรั้งอันดับ3 แซงตระกูล “จิราธิวัฒน์” ที่เจอพิษหุ้นหล่นจากที่ 2ไปอยู่อันดับ 4 มี 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีกับคิง เพาเวอร์ อันดับคงที่ ฟอร์บส์ยังชี้ถึงผลกระทบโควิด-19 ทำธุรกิจส่งออก-ท่องเที่ยวเจ๊ง สินทรัพย์ 50 มหาเศรษฐีวูบลง แต่กระนั้นก็ยังมีขุมทรัพย์รวมกันถึง 1.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ท่ามกลางวิกฤติการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และพิษภัยโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2020 ถึงส่งผลต่อทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีไทยลดลงบ้างจากช่วงปี 2019 แต่ก็ยังถือครองทรัพย์สินรวมกัน 1.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (4.22 ล้านล้านบาท)
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ เปิดเผย 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มชะลอตัวแล้วจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ต้องมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บุคคลร่ำรวยที่สุดจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ประจำปี 2563 ทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (9.14 แสนล้านบาท) เป็นการลดลงถึง 18% เหลือเพียงมูลค่ารวมกัน 50 อันดับ 1.32 แสนล้านเหรียญ (4.22 ล้านล้านบาท) แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศแผน กระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ (5.22 แสนล้านบาท) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังทรุดหนัก โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบจาก เดือน เม.ย.2562 เป็นผลให้มหาเศรษฐีไทย 38 คน มีทรัพย์สินสุทธิลดลง ในจำนวนนี้มี 6 คน ลดลงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.26 หมื่นล้านบาท)
มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2563 ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 โดยอันดับ 1 คือ พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับ 1 แม้มีทรัพย์สินจะลดลง 2.2 พันล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านเหรียญ (8.91 แสนล้านบาท) และ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านเหรียญ (3.46 แสนล้านบาท) ได้สำเร็จก็ตาม อันดับ 2 นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่าง Red Bull มาในอันดับที่ 2 โดยเป็น 1 ใน 8 ผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแม้ภาพรวม จะย่ำแย่ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้าน เหรียญ (6.49 แสนล้านบาท) จากปีก่อนมาเป็น 2.02 หมื่นล้านเหรียญ (6.59 แสนล้านบาท) ในปีนี้
อันดับ 3 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ (3.42 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินสุทธิของนายเจริญลดลงจากที่มี 1.62 หมื่นล้านเหรียญ (5.29 แสนล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ หล่นจากอันดับ 2 ไปอยู่ อันดับ 4 ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญ (3.1 แสนล้านบาท) พวกเขาเพิ่งนำ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและ นักช็อปลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทลต่ำกว่าราคาไอพีโอถึง 27% ทรุดลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าการซื้อขาย
อันดับ 5 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี อันดับคงที่ ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มูลค่าทรัพย์สิน 6.8 พันล้าน เหรียญ (2.22 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 5.2 พันล้าน เหรียญ (1.69 แสนล้านบาท) ในปี 62 อันดับ 6 นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา อันดับคงที่ ดำเนินธุรกิจ รีเทล บมจ.คิง พาวเวอร์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.8 พันล้าน เหรียญ (1.24 แสนล้านบาท) ลดลงจาก 4.7 พันล้าน เหรียญ (1.53 แสนล้านบาท) ในปี 62 อันดับ 7 นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (ขึ้นจากอันดับ 24) ดำเนินธุรกิจสีทาอาคาร บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ ประเทศไทย (TOA) มูลค่าสินทรัพย์สิน 3.1 พันล้านเหรียญ (1.01 แสนล้านบาท)
อันดับ 8 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ คงที่ ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม บมจ.โอสถสภา (OSP) มูลค่าทรัพย์สิน 3 พันล้านเหรียญฯ (9.79 หมื่นล้านบาท) อันดับ 9 นายวานิช ไชยวรรณ คงที่ ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต บมจ.ไทยประกันชีวิต มูลค่าทรัพย์สิน 2.8 พันล้าน เหรียญฯ (9.14 หมื่นล้านบาท) ลดลงจาก 2.85 พันล้าน เหรียญฯ (9.3 หมื่นล้านบาท) และอันดับ 10 นายชูชาติ และนางดาวนภา เพชรอำไพ (ขึ้นจากอันดับ 13) ดำเนิน ธุรกิจการเงิน บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มูลค่า ทรัพย์สิน 2.65 พันล้านเหรียญ (8.65 หมื่นล้านบาท)
อนึ่งการจัดอันดับครั้งนี้ใช้ข้อมูลการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อ มูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง โดยจัดอันดับต่างจากอันดับอภิมหาเศรษฐีตรงที่มีการรวมถึงทรัพย์สินของครอบครัว และทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวหลายรุ่น ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนเป็นการคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 มี.ค.63 ทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การคำนวณทรัพย์สินจากเหรียญสหรัฐฯมาเป็นสกุลเงินไทย ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 32.663 บาทต่อเหรียญ ณ วันที่ 31 มี.ค.63
ขณะที่มหาเศรษฐีไทยใน 50 อันดับที่น่าสนใจ อาทิ นายสันติ ภิรมย์ภักดี วัย 73 ปี อยู่อันดับ 15 เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ ถือครองทรัพย์สินราว 1,860 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (6.07 หมื่นล้านบาท) นายทักษิณ ชินวัตร วัย 70 ปี อันดับ 16 ถือครองทรัพย์สินราว 1,850 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ (6.04 หมื่นล้านบาท) นางศุภลักษณ์ อัมพุช วัย 65 ปี เจ้าของธุรกิจค้าปลีก ถือครองทรัพย์สิน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (5.22 หมื่นล้านบาท) อยู่อันดับ 20 และอันดับ 40 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา วัย 58 ปี ถือครองทรัพย์สินราว 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.91 หมื่นล้านบาท) จากธุรกิจด้านพลังงาน ติดกลุ่ม 50 อันดับเศรษฐีไทยครั้งแรก
นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทย 2020 ที่อยู่ในวิกฤตการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งโลกและส่งผลให้ทรัพย์สินโดยรวมของเหล่ามหาเศรษฐีของไทยลดลงบ้างจากปี 2019 แต่ก็ยังครอบครองทรัพย์สินรวมกันถึง 1.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ