งบกลาง 96,000 ล้านเหี้ยน รัฐบาลควานหากระสุนเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

งบกลาง 96,000 ล้านเหี้ยน รัฐบาลควานหากระสุนเพิ่ม

Date Time: 30 มี.ค. 2563 09:10 น.

Summary

  • งบกลางในมือนายกรัฐมนตรี 96,000 ล้านบาทเหี้ยน หลังถูกใช้สู้วิกฤติโควิดและรับมือภัยแล้ง สำนักงบเตรียมเสนอ ครม. แก้ปัญหา หวั่นไม่มีเงินอัดฉีดมาตรการใหม่ๆ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

งบกลางในมือนายกรัฐมนตรี 96,000 ล้านบาทเหี้ยน หลังถูกใช้สู้วิกฤติโควิดและรับมือภัยแล้ง สำนักงบเตรียมเสนอ ครม. แก้ปัญหา หวั่นไม่มีเงินอัดฉีดมาตรการใหม่ๆ ระบุทางออกมีตั้งแต่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือออกเป็น พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ จากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มี.ค.2563 จะรายงานสถานการณ์งบประมาณปี 2563 ให้ ครม.รับทราบ หลังจากงบกลาง ซึ่งถือเป็นเงินสภาพคล่องของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีสามารถนำมาใช้ได้ยามฉุกเฉินและจำเป็น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้งบกลางมีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้เต็มจำนวน 96,000 ล้านบาทแล้ว หากไม่มีการตัดสินใดๆ รัฐบาลจะไม่มีเงินนำมาใช้จ่ายในมาตรการใหม่ๆได้

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีเจ้าของ หรือ ส่วนราชการที่ขอตั้งงบประมาณเอาไว้หมดแล้ว โดยแบ่งออก 1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณที่ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อน เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่าที่กำหนด จากเดิมที่ต้องเริ่มปีงบประมาณในเดือน ต.ค.2562 กลายเป็นสามารถใช้จ่ายได้จริงเมื่อปลายเดือน ก.พ.2563

ส่วนเงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทที่เหลือ แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำประมาณ 1 ล้านล้านบาท เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง และอุปกรณ์ครุภัณฑ์ รวมถึงรายจ่ายอื่นๆที่ผูกพันไว้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 และอีก 1.2 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุนประมาณ 640,000 ล้านบาท งบกลาง 96,000 ล้านบาท ตลอดจนรายจ่ายที่ได้ผูกพันเอาไว้ทุกๆปี เช่น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น จึงไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินหรือถังแตก

งบประมาณปี 2563 ถึงแม้จะเบิกจ่ายได้ล่าช้ากว่าที่กำหนด แต่ทั้งหมดมีการกำหนดรายจ่ายเอาไว้อย่างชัดเจน กรณีที่นักการเมืองระบุว่าให้ตัดงบประมาณออกมา 10% จากงบประมาณทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 เป็นเงินประมาณ 300,000 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ”

ที่ผ่านมามติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 มีคำสั่งให้ส่วนราชการบริหารเงินงบประมาณ กรณีที่ไม่ได้ใช้จ่ายและให้ตัดออกไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น การงดเดินทางไปร่วมประชุม หรือสัมมนาต่างประเทศ โดยขอให้ตัดงบบริหารก้อนนี้ในอัตราส่วน 10% และให้ย้ายเงินดังกล่าวมาไว้ที่งบกลาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีส่วนราชการใดระบุว่าสามารถตัดงบบริหารได้

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า การวางแผนใช้จ่ายเงินงบประมาณหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีปัญหาเท่าปีนี้ โดยเฉพาะงบกลางจำนวน 96,000 ล้านบาท ที่สำนักงบประมาณตั้งไว้เป็นงบฉุกเฉินเพื่อให้นายกรัฐมนตรีใช้เป็นสภาพคล่องในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งน่าจะเพียงพออย่างแน่นอน แต่ปีนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 และยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งซ้ำเติมเข้าไปอีก งบกลางที่เตรียมไว้จึงมีไม่เพียงพอ

“นอกจากนี้ ยังมีคนเสนอให้ดึงเงินจากงบลงทุน 640,000 ล้านบาทมาใช้จ่ายก่อน ผมตอบได้เลยว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณต้องติดคุกคนแรกแน่นอน เพราะ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณกำหนดเอาไว้ว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเม็ดเงินจำนวน 640,000 ล้านบาทดังกล่าวถือเป็น 20.1%”

มติ ครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ได้ขอใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งไปประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ก็มาจากงบกลางของนายกรัฐมนตรี และมติ ครม.ในวันเดียวกัน ก็ใช้งบกลางอีก 45,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินให้แก่ประชาชนคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท และยังมีเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้คนซื้อบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้งบกลางหมดลงอย่างรวดเร็ว”

สำหรับแนวทางการแก้ไขเพื่อให้งบกลางมีเพียงพอกับการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเรื่องของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน แต่มีหลายประเด็นที่ต้องตีความว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้หรือไม่ โดยมาตรการ 140 กำหนดว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินจะทำได้เฉพาะรายจ่ายที่อนุญาตตามงบประมาณเท่านั้น ซึ่งหากยึดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว หมายความว่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะรายจ่ายฉุกเฉินที่จะใช้ในเรื่องอะไรบ้างนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในงบประมาณ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น

ขณะที่มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า สามารถดำเนินการได้ทันทีกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณานาน เพราะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่ในส่วนของสำนักงบประมาณมีแผนสำรอง โดยจะขอให้ ครม. เสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน มาไว้ที่งบกลาง ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้เคยเสนอให้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้วิธีการนี้และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่ จึงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม.ว่า จะเลือกแผนไหนในการเติมเงินให้แก่งบกลาง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ