สินค้าดาวรุ่งส่งออกช่วงโควิด-19 เกษตร-อาหารต้องการพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สินค้าดาวรุ่งส่งออกช่วงโควิด-19 เกษตร-อาหารต้องการพุ่ง

Date Time: 27 มี.ค. 2563 08:17 น.

Summary

  • สนค.ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกได้วางแผน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

เครื่องเทศ-สมุนไพรใช้สิทธิ FTA

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกได้วางแผนและเตรียมความพร้อม โดยพบว่าสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีคือ เกษตรและอาหาร หากไทยวางแผนการผลิตและส่งออกได้ จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสและชิงส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น อาหารปรุงสำเร็จเครื่องปรุงรส ข้าว ผัก ผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในตลาดจีน ที่การระบาดเริ่มคลี่คลาย และผู้บริโภคจีนยังมีกำลังซื้อเหลืออยู่มาก หลังยกเลิกเทศกาลตรุษจีนและเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ส่วนประเทศอื่นก็มีโอกาส จากการที่คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน

ขณะที่ตลาดในยุโรปที่การระบาดรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในอิตาลีสเปนและสหราชอาณาจักรนั้น คาดว่า สินค้าอาหารและเวชภัณฑ์จะเป็นที่ต้องการมากในยุโรปในช่วงถัดไป ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออก ควรเน้นเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปหรือปรุงสำเร็จ เพราะจะช่วยให้เจาะตลาดคู่ค้าง่ายขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่อาหารไทยมีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือเรื่องความปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกตื่นตัวกระแสดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พืชสมุนไพรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไทย โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ รวม 13 ฉบับ เพื่อเพิ่มแต้มต่อในการส่งออก ซึ่งเครื่องเทศและสมุนไพรไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ 13 ประเทศแล้ว ขณะที่ยารักษาโรคจากสมุนไพรได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศแล้ว ยังเหลืออินเดียที่คงอัตราภาษีที่ 5%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ