กรมการค้าภายใน โต้โซเชียลมีเดีย ปมใบอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย ยันเหตุอนุญาตเหตุได้ BOI ให้ผลิตภายใต้ลิขสิทธิ์ผู้ว่าจ้างเพื่อส่งออกย้ำตั้งแต่ 4 ก.พ. ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีอนุญาตส่งออกหน้ากากเลย
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.63 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ใบอนุญาตส่งออกของผู้ผลิตหน้ากากอนามัย รายหนึ่ง ที่กรมการค้าภายในอนุญาตให้ส่งออกได้กว่า 1 ล้านชิ้น หรือกว่า 6,200 กิโลกรัม เมื่อต้นเดือน มี.ค.63 ว่า การที่กรมอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวส่งออก เพราะบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อการส่งออกทั้งหมด ไม่ได้ขายในประเทศ และบริษัทนี้ผลิตสินค้าภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้จ้างผลิต และเป็นหน้ากากชนิดพิเศษที่ไม่ได้ใช้ในประเทศ จึงอนุญาตการส่งออก
"ตามที่มีการเผยแพร่ภาพใบอนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขการส่งออกที่กำหนด ซึ่งการที่จะระงับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว ไม่มีเหตุผลที่จะนำมาอ้างต่อผู้ขอส่งออก และอาจจะต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนหน้ากากอนามัยที่ใช้ในประเทศ ขอยืนยันว่าไม่อนุญาตให้ส่งออกแน่นอน" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
นายวิชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.63 จนถึงปัจจุบัน ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กกร. ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ หน้ากากอนามัยที่ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในประเทศ สินค้าที่มีลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ โรงงานที่ผลิตได้รับบีโอไอให้ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น รวมถึงหน้ากากเฉพาะที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ โดยในการพิจารณามีคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ กกร.แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม และผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนจากกรมการค้าภายใน ร่วมกันพิจารณาตามหลักเกณฑ์
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในการพิจารณาอนุญาตส่งออกแต่ละครั้งผู้แทนจาก อย.จะพิจารณาชนิด และคุณภาพของหน้ากากอนามัย หากปรากฏว่าเป็นสเปกดังกล่าวข้างต้นจึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ แต่หน้ากากอนามัยแบบที่ไทยต้องใช้ในประเทศ ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกแน่นอน.