ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ประเด็นกลุ่มซี.พี. ประกาศซื้อกิจการเทสโก้โลตัส (Tesco) ในประเทศไทยและมาเลเซียมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (338,000 ล้านบาท) ว่ากระบวนการหลังจากนี้ กลุ่มซี.พี.จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และทางการของมาเลเซีย โดยคาดว่าเงื่อนไขทั้งหมดจะสำเร็จภายในช่วงปีหลังของปีนี้และมีผลต่องบการเงินของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)หรือ CPALL และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563
สำหรับผลต่อซีพีออลล์นั้น โครงสร้างดังกล่าวดีกว่าที่คาดว่าจะเป็นการซื้อโดยซีพีออลล์ทั้งหมด (โดยเป็นการซื้อจากซีพีออลล์จำนวน 40% บริษัทย่อยของซีพีเอฟ 20% และเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40%) เป็นการลดความกังวลในเรื่องความเสี่ยงฐานทุน ขณะที่ระยะยาวช่วยต่อยอดภาพธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มให้มีความแข็งแกร่ง ในแง่ 1.มีรูปแบบห้างค้าปลีกที่ครบวงจร ร้านค้าส่ง แม็คโคร (MAKRO), ไฮเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ (Tesco) และร้านสะดวกซื้อ 7/11 มีส่วนแบ่งตลาดทุกรูปแบบในประเทศเป็นอันดับ 1 (ร้านสะดวกซื้อ 13,300 สาขาจากเดิม 12,000 สาขา, ห้างค้าส่ง ในประเทศ 94 สาขา (เท่าเดิม) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (Tesco+ Food Service MAKRO) 431 สาขา จากเดิม 40 สาขา และภาพรวมจะมีส่วนแบ่งตลาดห้างโมเดิร์น เทรดในไทยรวมสูง 43.5% จากเดิม 31.9% ขณะที่ช่องทางต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 76 สาขา จากเดิม 7 สาขา และเพิ่มประเทศที่เข้าไปดำเนินงาน 1 แห่ง คือ มาเลเซีย จากเดิมมี กัมพูชา, เมียนมา, จีน และอินเดีย โดยแม็คโคร 2.ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น
ส่วนซีพีเอฟจะได้ผลบวกจากการเข้าลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียในระยะยาว จาก 1.การเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าซีพีเอฟ โดยปัจจุบันซีพีเอฟมียอดขายผ่านเทสโก้ในไทย 700 ล้านบาท/ปี สอดคล้องกับการซื้อกิจการแม็คโครของซีพีออลล์ในปี 2556 ที่ซีพีเอฟมียอดขายผ่านแม็คโคร 500 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบันมี 10,000 ล้านบาท 2.การลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง (Logistic) 3.การพัฒนาบริการให้ ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริหารศูนย์อาหารในเทสโก้.