หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ณ วันที่ 7 มี.ค. มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 102,188 ราย เสียชีวิต 3,491 ใน 101 ประเทศ สร้างความหวาดผวาให้กับทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การส่งออก รวมทั้ง การใช้จ่ายทั่วโลก
หน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ออกมาระบุถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่าที่คิด และได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงอย่าง
ต่อเนื่อง ในขณะที่การแพร่ระบาดยังดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับประเทศไทย คาดกันว่าผลกระทบในกรณีฐานการแพร่ระบาดจะจบลงใน 2-3 เดือนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงประมาณ 1.1%
แต่ล่าสุด คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้ปรับมุมมองต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้ จากเดิมคาดว่าจะสิ้นสุดได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มาเป็นเริ่มลดการแพร่ระบาดได้ในช่วงเดือน มิ.ย.ปีนี้ จากนั้นสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4
จากมุมมองต่อเศรษฐกิจที่มีผลกระทบยาวนานขึ้นจากโควิด-19 นี้ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการชุดที่ 1 เพื่อช่วยลดผลกระทบของผู้ประกอบการ ให้ยังคงสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ แรงงานไม่ถูกลอยแพ และผู้มีรายได้น้อยยังมีเงินจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายอุตตม สาวนายน” รมว.คลัง ผู้รับผิดชอบหลักที่จะพาประเทศไทยฝ่าภัยโควิด -19 ในครั้งนี้
การดำเนินมาตรการกระตุ้นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่องนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง
“โดยตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค.ปีนี้ รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทุกเดือน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ให้ขยายตัวมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปีการส่งออกไทยขยายตัวติดลบ 3.6% ขณะที่สภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวเพียง 1.6% และทั้งปีขยายตัวเพียง 2.6%”
และในเดือน ม.ค. รัฐบาลได้ทำมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก ยกตัวอย่างเช่น เติมทุนให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันลูกหนี้เพิ่มจากเดิม 30% เป็น 40% สินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การหักค่าใช้จ่าย 2.5 เท่าสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกรายการ และออกสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการส่งออกของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นต้น
โดยคาดหวังว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจไทยปี 2563 ให้เติบโตได้ประมาณ 2% ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเหมือนไทย
แต่เหตุการณ์ปลายเดือน ม.ค. ก่อนเทศกาลตรุษจีนเพียงวันเดียว คือวันที่ 23 ม.ค. รัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมากก่อนว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวจากมาตรการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก
ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่เตรียมไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นักท่องเที่ยวหายไปถึง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้กระทรวงการคลังต้องมาทบทวน และวางแผนกันใหม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไปให้ได้
“ต้นเดือน ก.พ. ผมจึงตัดสินใจใส่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 123,000 ล้านบาท โดยขยายเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน จากเดิมเดือน มี.ค.เป็นเดือน มิ.ย.2563 เพื่อลดภาระภาษีให้แก่ประชาชน นำค่าใช้จ่ายในการอบรม สัมมนาในต่างจังหวัดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็นบวกมากกว่า 1% ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีใครคิดว่าความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จะมากถึงขนาดนี้”
“ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อประเมินภาพชัดเจนในช่วงปลายเดือน ก.พ.กระทรวงการคลัง จึงต้องเร่งเสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมาตรการชุดใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเป็นมาตรการระยะสั้นเพียง 2 เดือน โดยอัดมาตรการลงไปในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้”
“มาตรการชุดที่ 1 เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น และในอนาคต หรือในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า จะมีมาตรการชุดที่ 2 และชุดที่ 3 ตามมาอีกตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยุติได้รวดเร็วภายใน 1-2 เดือนนี้ หรือลากยาวไปถึงสิ้นปี 2563”
โดยมาตรการชุดที่ 1 นี้ มีทั้งหมด 4 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่ประชาชน
2.มาตรการทางด้านการเงิน
3.มาตรการด้านภาษี
และ 4.มาตรการอื่นๆ โดยใช้เงินงบประมาณ และวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้
“ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ และต้องแก้ให้ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ได้รับผลกระทบจากไวรัสน้อยที่สุด และเศรษฐกิจไทยจะได้ไม่ตกท้องช้าง ซึ่งแพ็กเกจมาตรการที่ออกมาครั้งนี้ เป็นผลจากการหารือทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ร่วมกันคิด และพร้อมใจกันเสนอมาตรการ”
มาตรการชุดที่ 1 จึงเป็นการช่วยเหลือครอบคลุมทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป โดย
มาตรการแรก คือ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยจะแจกเงินเดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน รวม 2,000 บาท เริ่มเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ขอบเขตของประชาชนที่จะได้รับมีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างวางหลักเกณฑ์ และกำหนดคุณสมบัติ เพื่อประกาศรับลงทะเบียน และจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ของธนาคารพาณิชย์อย่างถูกฝาถูกตัว
“เป้าหมายของการแจกเงิน ไม่ใช่เรื่องการเมือง และไม่ใช่เรื่องประชานิยม แต่เป็นมาตรการที่จะส่งเงินไปถึงมือประชาชน ที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปซื้อสินค้า และเกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจที่หยุดชะงักให้หมุนเวียนต่อไปได้ เพราะเมื่อมีการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เม็ดเงินจะหมุนไปในหลายภาคส่วน คือ ภาคการผลิต ส่งผลต่อการจ้างงาน และมีการซื้อวัตถุดิบ”
ต่อมาเป็นมาตรการทางด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีภาระต้นทุน และไม่ให้เลิกจ้างงานหรือลอยแพลูกจ้าง ประกอบด้วย
1.การจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารออมสิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอัตราไม่เกิน 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
2.พักเงินต้นเงินและขยายเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วย พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ ผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
3.ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบด้วย ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติได้เร็วขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นในการประเมินกระแสเงินสดเพื่อการกู้ ซึ่งนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ได้ออกประกาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้การแก้ไขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ครอบคลุมลูกหนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562
4.สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้น 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี แก่ สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ้างลูกจ้างต่อได้ วงเงินสินเชื่อรวม 30,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการเลิกจ้างของนายจ้าง ที่ประกอบกิจการธุรกิจท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
สำหรับมาตรการทางภาษี มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีภาระต้นทุน เพื่อให้อยู่ต่อไปได้ และไม่ต้องเลิกจ้างแรงงาน ประกอบด้วย
1.คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
2.ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยให้สิทธิหักรายจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการซอฟต์โลนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้และจัดทำบัญชีเดียว สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 ไปคำนวณเป็นรายจ่ายได้
3.ส่งเสริมการจ้างงาน โดยผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายของลูกจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จ่ายตั้งแต่ 1 เม.ย.- 31 ก.ค.2563 มาหักเป็นรายจ่ายได้
และ 4.เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)ให้แก่ ผู้ประกอบการภายในประเทศ ในกรณีเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี แบ่งเป็น
1.กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเตอร์เน็ต ได้รับคืนภายใน 15 วัน
และ 2.ยื่นแบบ ภ.พ.30 ณ สรรพากร ได้รับคืนภายใน 45 วัน
และ 5.มาตรการอื่นๆ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายส่วนราชการ เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย
1.การบรรเทาค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ พิจารณาลด/ ชะลอ/เลื่อนการเก็บ ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นให้ผู้ประกอบการ
2.บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ โดยให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำ และค่าไฟให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม
3.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยขอความร่วมมือกระทรวงแรงงานพิจารณาลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม
4.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยการปรับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ รวมทั้งเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน
และ 5.สร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (เอสเอสเอฟ) จากเดิมที่กองทุนไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน แต่จะขอขยายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 65% เพื่อไฟเขียวให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) นำเงินจากเอสเอสเอฟไปลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างเต็มที่
สุดท้ายกระทรวงการคลังยังได้วางกลไกในการดูแลผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 โดยจะจัดตั้งกองทุนลักษณะพิเศษ ที่สามารถนำเงินไปใช้จ่าย หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนได้ทันที โดยไม่ติดขัดกฎระเบียบราชการ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลัง แต่ยืนยันได้ว่ากองทุนนี้จะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
“ประชาชนที่ถูกเลิกจ้างจากธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้รายได้ลดลง ต้องหยุดพักงาน หรือถูกลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) จะต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล เพื่อให้ทุกคนสามารถฟันฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน หรือถ้าจะมีคนไทยบาดเจ็บ เสียหายจากเหตุการณ์นี้ ผมจะพยายามทำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นายอุตตมกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนา.
ทีมเศรษฐกิจ