คลังทุ่มแสนล้านแจกเงินคนจน รับกันเหนาะๆ ผ่านพร้อมเพย์หัวละ 1-2 พันบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังทุ่มแสนล้านแจกเงินคนจน รับกันเหนาะๆ ผ่านพร้อมเพย์หัวละ 1-2 พันบาท

Date Time: 5 มี.ค. 2563 09:30 น.

Summary

  • “อุตตม” เล็งแจกเงินคนจน 14.6 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านพร้อมเพย์มากกว่าคนละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมออกมาตรการชุด (แพ็กเกจ)

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“อุตตม” เล็งแจกเงินคนจน 14.6 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านพร้อมเพย์มากกว่าคนละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมออกมาตรการชุด (แพ็กเกจ) มูลค่าเกิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) อุ้มผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นเกณฑ์ LTF ชั่วคราว เพื่อเป็นยาแรงพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชุดที่ 1 ซึ่งมาตร การที่ออกมาจะครอบคลุมทุกกลุ่ม ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ และจะเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้เงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังจากชุดมาตรการทั้งหมดผ่าน ครม.เศรษฐกิจแล้ว เตรียมจะเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค.เพื่อให้ชุดมาตรการนี้เกิดผลภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่เดือนมี.ค.-มิ.ย.63

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ขณะนี้ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ผ่านการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารออมสิน มากกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ทางบัญชี ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนด้านการช่วยเหลือตลาดทุนนั้นสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หารือกับสภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย (FETCO) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการพิจารณาปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) ซึ่งกำหนดให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวม กับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ หรือกองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยอาจจะให้กองทุน SSF นั้น กลับไปใช้หลักเกณฑ์ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี

ขณะที่การช่วยเหลือ ภาคประชาชน จะมีการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ และพนักงานเงินเดือนที่มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือ บริการโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชี ของรัฐบาลที่มีอยู่มากกว่ารายละ 1,000 บาท เพื่อให้คนกลุ่มเหล่านี้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า 14.6 ล้านคน

“เงินที่โอนให้ในระบบพร้อมเพย์นั้น จะไม่บังคับประชาชนว่าจะนำไปจับจ่ายซื้อของอะไร และอาจจะไม่ใช่การโอนครั้งเดียว แต่อาจโอนเป็นรายเดือนก็ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเหมาะสม”

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจะออกมาตรการจูงใจ ผู้ประกอบการชะลอการเลิกจ้างงาน ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่า จะสามารถออกมาตรการทางภาษีเข้ามาผ่อนปรนและลดค่าธรรมเนียมส่วนใดได้บ้าง เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่ายให้น้อยลง ให้นำค่าจ้างพนักงานมาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า และลดค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหรือโดนพักงาน 14 วัน ได้สั่งให้ สศค.ดูว่าจะใช้มาตรการมดบ้างช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไรด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อบัตรเงินสด GSB Refinance ให้ผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ มายังธนาคารออมสิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งถือเป็นการช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

ส่วนกลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง ได้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปหารือกับสถานศึกษาเพื่อจัดอบรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะ ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกระทรวงการคลังจะจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุนให้กลุ่มดังกล่าว เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีมาเข้าร่วม

“มาตรการที่ออกมาเชื่อว่าจะเป็นยาแรงช่วยพยุงเศรษฐกิจ ใน 3 เดือนข้างหน้าได้แน่นอน และชุดมาตรการที่ออกมานั้นอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังแน่นอน 100% ส่วนผลกระทบโควิด-19 นั้นจะลากยาวถึงเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ และขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะเติบโตเท่าไหร่เพราะยังเร็วเกินไปสำหรับการประเมินเศรษฐกิจ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ