“ลวรณ” พร้อมอัดฉีดเงินไม่อั้น หวั่นแรงงานใน-นอกระบบ-เด็กจบใหม่พัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ลวรณ” พร้อมอัดฉีดเงินไม่อั้น หวั่นแรงงานใน-นอกระบบ-เด็กจบใหม่พัง

Date Time: 4 มี.ค. 2563 09:57 น.

Summary

  • คลังเร่งหามาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจแบบไม่อั้น ระบุ พ.ร.บ.งบประมาณไม่มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ หนี้สาธารณะต่ำ ช่วยได้เต็มที่ ขณะที่สภาองค์การลูกจ้างหวั่นแรงงานในระบบการท่องเที่ยว

Latest

รัฐย้ำเดินหน้าแจกเงินหมื่นเฟส 2 สมาคมค้าปลีกชงฟื้นช็อปดีมีคืนอัดเงินแสน ล.เข้าระบบ

คลังเร่งหามาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจแบบไม่อั้น ระบุ พ.ร.บ.งบประมาณไม่มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ หนี้สาธารณะต่ำ ช่วยได้เต็มที่ ขณะที่สภาองค์การลูกจ้างหวั่นแรงงานในระบบการท่องเที่ยว นอกระบบ และผู้จบใหม่จะเดือดร้อนหนัก

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเรียกประชุมในวันที่ 6 มี.ค.นี้ สำหรับประเด็นการช่วยเหลือคือจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มลูกจ้าง และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวสามารถอยู่รอดได้ เพื่อรักษาแรงงานในภาคท่องเที่ยวไว้ ส่วนกลุ่มลูกจ้างในภาคท่องเที่ยวมีรายได้ลดลง รัฐบาลต้องเตรียมแนวทางเข้าไปดูแล เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้

“นอกจากช่วยเหลือเรื่องการเงินแล้ว จะต้องมีแนวทางอื่นๆจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมออกมาตรการด้วย โดยจะต้องให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่ามาตรการที่ออกมานั้นจะมีขนาดใหญ่พอสมควรทั้งงบประมาณและมาตรการ” ขณะที่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นกับไทย น่าจะกินเวลานานกว่า 3 เดือนที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีว่าจะมีผลแค่ระยะสั้นๆ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยคงจะรุนแรงกว่าที่จากเดิมที่ สศค.เคยประเมินไว้ 2.8% ล่าสุดคาดว่าไม่น่าจะโตถึงระดับนั้นแล้ว ส่วนจะโตเกินกว่า 2% หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าไวรัสโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ และต้องขึ้นอยู่กับมาตรการรัฐที่เข้าไปช่วยเหลือว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน

นายลวรณ กล่าวว่า ในปีนี้การใช้มาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจสามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้แล้ว และไทยไม่ได้มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ จึงไม่ต้องกังวลเงินเฟ้อ ส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงสามารถออกแบบนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจได้เต็มที่ ซึ่งจะแตกต่างช่วงอื่น ที่ไทยมีปัญหาด้านเสถียรภาพทำให้ต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย

“เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เงินยังมีมาก ขอให้ใช้ให้ทัน เฉพาะแค่งบประมาณปี 2563 ก็จะเร่งเบิกจ่ายให้ได้ภาย ใน 6-7 เดือน ดังนั้น การดำเนินนโยบายดูแลเศรษฐกิจจึงสามารถทำได้อีกมาก ส่วนถ้าหากเศรษฐกิจปีนี้เติบโตในระดับ 2% ถือว่าไม่ได้เป็นปีที่แย่ที่สุด เพราะไทยเองเคยเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1% มาแล้ว” อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยลบทำให้หลายฝ่ายคาดว่าในไตรมาส 1 ปีนี้อาจโตไม่ถึง 1% แต่ขณะนี้มีข่าวดีจากงบประมาณ 2563 ที่สามารถเบิกจ่ายมาใช้อย่างเต็มที่ และสำนักงบประมาณประเมินไว้ว่าจะมีงบลงทุนพร้อมเบิกจ่ายทันที 400,000 ล้านบาท ซึ่งตรงเป็นปัจจัยบวก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้เป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมการจ้างงานของไทยในปีนี้ให้ชะลอตัวลงไปมากกว่าเดิม โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในระบบแรงงานในเดือน พ.ค.นี้ อีก 500,000 คน จะมีโอกาสได้งานทำค่อนข้างต่ำ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหามาตรการหรือแผนรองรับไว้ เช่น การทำโครงการต่างๆ โดยใช้งบประมาณจ้างเด็กจบใหม่ให้มีงานทำ เช่นอดีตที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ เป็นต้น

“รัฐบาลต้องหาวิธีไม่ให้เด็กจบใหม่เกิดปัญหาว่างงาน เพราะต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาคนว่างงานจากธุรกิจหรือเด็กจบใหม่ พอไม่มีงานทำก็ยังกลับบ้านไปทำภาคเกษตรได้บางส่วน แต่ปีนี้ภาคเกษตรของประเทศไทยก็เผชิญกับผลกระทบกับภัยแล้ง”

ปัจจุบันผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยให้ถดถอย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด ด้วยการรัดเข็มขัดทุกด้าน ทำให้ธุรกิจในภาพรวมทั้งหมดจะมีการชะลอรับแรงงานใหม่เข้าทำงาน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในทันทีคือ คลัสเตอร์ท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านค้า สปา ร้านอาหาร มัคคุเทศก์ ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจากระบบแล้ว 60% จากปกติ และนายจ้างบางส่วนก็เริ่มปรับแผนลดต้นทุนด้วยการลดพนักงาน เช่น ให้สมัครใจลาออก, สมัครใจหยุดงานไม่รับเงินเดือน และเลวร้ายที่สุดคือเลิกจ้าง ซึ่งหากปัญหานี้ยังยืดเยื้อ การเลิกจ้างงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจากการสำรวจของอีคอนไทยพบว่า แรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในระบบ 3.2 ล้านคน นอกระบบอีก 7 ล้านคน ทั้ง 2 กลุ่มได้รับผลกระทบพร้อมๆกันในขณะนี้ ส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดจะจบเร็วหรือช้า เพราะผลกระทบจะลุกลามไปเป็นโดมิโนถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น รถรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร การผลิตผ้าเช็ดตัว สบู่ สมุนไพร ของที่ระลึก ค้าปลีก ค้าส่ง อาหาร หรือขนมที่มีอัตลักษณ์ในท้องถิ่นที่เน้นผลิตจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยถือเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากนับจากนี้ไป

นายธนิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก และหากยืดเยื้อจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าวิกฤติปี 2540 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ การส่งออก การท่องเที่ยวของไทยก็เติบโต ปัญหาแรงงานกระจุกอยู่เพียงสถาบันการเงินและเพียงไม่ถึงปีก็ฟื้นตัวได้ แต่โควิด-19 ไม่มีปัจจัยเอื้อหนุน เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลก ส่งออก ท่องเที่ยว รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้งดับสนิทเกือบทั้งหมดในขณะนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ