บขส. ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 เพื่อความมั่นใจของผู้โดยสาร พร้อมกำชับพนักงาน บขส.–รถร่วมฯ ช่วยกันดูแลความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนรถโดยสาร และสถานีขนส่งฯทุกแห่ง
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) บขส. มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้นายสถานีเดินรถทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการความเข้มงวดในเรื่องการทำความสะอาดภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง (จตุจักร เอกมัย และถนนบรมราชชนนี) ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหลักที่มีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ บขส.มีมาตรการรักษาความสะอาด และป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้
1. เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยใช้แอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดพื้นอาคาร เก้าอี้พักคอยผู้โดยสาร เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว บริเวณห้องโถงผู้โดยสาร ห้องสุขา รถเข็น และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น เคาน์เตอร์บริการ ที่จับราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น
2. ติดตั้งจุดให้บริการ เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ภายในสถานี และที่ทำการของ บขส.ทุกแห่ง พร้อมกำชับพนักงาน บขส. และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ ขณะปฏิบัติหน้าที่
3. มีการประสานงานและบูรณาการมาตรการป้องกันโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอก อาทิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ทหารบก กรมมณฑลทหารบกที่ 11 กรมสรรพสามิต และกรุงเทพมหานคร ในการให้ความรู้ในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส วิธีการป้องกัน รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านจอ LCD และ Information Board ภายในสถานีขนส่งฯ มีการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไป
4. จัดเจ้าหน้าที่ สังเกตการณ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาด ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบผู้มีอาการผิดปกติให้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกหลักอนามัย และเน้นย้ำให้พนักงาน บขส.ทุกคน ต้องหมั่นตรวจสุขภาพตนเองอยู่เสมอ หากพบมีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งผู้บังคับบัญชา และพบแพทย์ทันที
5. มีการขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรถร่วมฯ และรถตู้โดยสาร ให้ช่วยกันดูแลทำความสะอาดรถโดยสาร และดูแลสุขอนามัยของพนักงานประจำรถ
6. มีการรายงานสถานการณ์ และการดำเนินงานในพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร ต่อกระทรวงคมนาคม เป็นประจำทุกวัน
อย่างไรก็ดี หากผู้โดยสารมีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ บขส. หรือบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป.