หลังจากที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ออกบทวิจัยเรื่อง ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย โดยนางศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และ Ms.Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความสนใจอย่างจริงจังมากขึ้นจากหลายฝ่าย
โดยเนื้อหาของบทวิจัยดังกล่าวได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2528-2560) ซึ่งผู้หญิงไทยที่จบปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น หรือหากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง (ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ใช่แต่ผู้หญิงไทยที่เลือกเป็นโสด ผู้ชายไทยเองก็นิยมที่จะเป็นโสดเพิ่มขึ้นเช่นกัน)
โดยการศึกษางานวิจัยทั่วโลก พบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั่วโลก มีแนวโน้มแต่งงานช้าลงหรือไม่แต่งงานเลย ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเรา พบเช่นกันว่า ผู้หญิงไทยที่เกิดตั้งแต่ปี 2523 ที่จบปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสดมากถึง 50-60% จากช่วงก่อนหน้า
ผลวิจัยยังระบุด้วยว่า แม้จะมีการตัดสินใจแต่งงาน ส่วนใหญ่ตัดสินใจมีลูกลดลง โดยพบว่า จากผู้หญิงไทยที่เกิดก่อนปี 2523 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเคยมีลูกเฉลี่ยประมาณ 1.5 คนต่อแม่ 1 คน แต่กลุ่มเดียวกันในปัจจุบันมีลูกเฉลี่ย 0.5 คน หรือเท่ากับผู้หญิงที่จบปริญญาตรีที่แต่งงานครึ่งหนึ่งไม่มีลูก และอีกครึ่งมีลูกแค่คนเดียว
ทั้งนี้ ตามสถิติประชากร หากไม่ต้องการให้ประชากรลดจำนวนลง ผู้หญิงไทย 1 คน ควรจะมีลูกอย่างน้อย 2 คน หากมีต่ำกว่านั้นจะทำให้ประเทศนั้นเข้าสู่สังคมสูงอายุ เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาคนอายุน้อยมีจำนวนและมีเงินไม่เพียงพอที่จะเลี้ยง ดูคนชราได้ และประเทศ ไทยเองก็จะไปถึงจุดนั้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ส่วนสาเหตุ “ทำไมน้องไม่แต่งงาน” งานวิจัยชี้ว่า เหตุผลแรกมาจากการศึกษา และฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น เลี้ยงดูตัวเองได้ จึงไม่ต้องการรับความคาดหวังจากสังคมเอเชียที่ไม่ว่าผู้หญิงจะสูง หรือมีฐานะการงานดีแค่ไหน ก็มีหน้าที่ต้องดูแลสามี ทำงานบ้าน ดูแลลูก ขณะที่การศึกษาและรายได้ที่สูงขึ้น ยังทำให้มีโอกาสพบคนที่ความเหมาะสมน้อยลง
เหตุผลที่ 2 คือ ต้นทุนของการเลี้ยงลูกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบทวิจัยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดของ Chamchan et al. (2019) ชี้ว่า การเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0-14 ปี) ใช้เงิน 1.57 ล้านบาท หรือ 100,000 บาทต่อปีต่อลูก 1 คน ซึ่งในข้อเท็จจริงวันนี้ หากต้องการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิต มีการศึกษาที่ดี ต้องใช้เงินมากกว่าที่สำรวจหลายสิบเท่า และกรณีนี้ต่อเนื่องไปที่เหตุผลที่ 3 ที่ระบุว่าในสังคมไทยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก
ขณะที่เหตุผลที่ 4 สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องทัศนคติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการแต่งงานและการมีลูกที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตส่วนตัวมากกว่าการสร้างครอบครัว รวมทั้ง คนกลุ่มนี้ยอมรับการใช้ชีวิตของบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศได้มากขึ้นด้วย
เหตุผลสุดท้าย เรื่องที่ 5 บทวิจัยระบุไว้ว่ามาจากการขาดการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสม และตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น รัฐไม่มีแรงจูงใจ หรือมาตรการสนับสนุนที่ดี ไม่มีสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กของภาครัฐที่เหมาะสม ขาดความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน รวมทั้งการแก้ปัญหาการกีดกันแบ่งแยกในที่ทำงานต่อแรงงานที่มีลูก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ ผู้วิจัยเองก็ “ไม่แน่ใจ” เช่นกันว่า ภายใต้สังคมที่เลวร้ายมากขึ้น สังคมที่มีความรุนแรง และค่าครองชีพที่ไม่เหมาะสมกับรายได้ มาตรการจูงใจถึงขั้นไหนถึงจะผลักดันให้สาวไทยที่มีการศึกษาสูง เลี้ยงตัวเองได้อยากแต่งงานมากขึ้น เพราะ “สวย รวย โสด” ทุกวันนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว
และจากการศึกษาประเทศที่ประสบปัญหาสังคมสูงอายุที่รุนแรงอย่าง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แม้รัฐบาลจะใช้ “ยาแรง” และ “ยาแพง” เพื่อจูงใจ เช่น การช่วยหาคู่ผ่านเว็บไซต์ ให้เงินแต่งงาน ให้เงินกู้ปลูกบ้าน ช่วยค่าเลี้ยงลูก 3 คนทุกเดือน สาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังไม่อยากแต่งงาน หรือมีลูก ยกเว้นจะมี “ผู้ชายแสนดี” อย่างในซีรีส์มาปรากฏตัว
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นน้องใหม่ของวงการนี้ คงต้องศึกษาให้ดีว่ามาตรการแบบไหนจะ “ชวนน้องให้แต่งงานหรือมีลูก” ได้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องแก้ที่ “เศรษฐกิจครัวเรือน” อีกส่วนคือการสร้างความเท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติของที่ทำงาน เพื่อให้เด็กเกิดใหม่ได้เรียนในบรรยากาศและหลักสูตรที่ดีขึ้น มีงานทำในองค์กรชั้นนำของประเทศ โดยผู้ปกครองไม่ต้องกระเสือกกระสนหาเงินให้เรียนโรงเรียนนานาชาติ เรียนภาคภาษาอังกฤษ หรือเรียนพิเศษอีกร้อยแปดรายการ หาเส้นสายฝากเรียน ฝากเข้าทำงาน เพียงเพื่อให้ “ลูก” มีที่ยืนในสังคม
รวมทั้งอีกส่วนที่สำคัญ ที่ต้องแก้คือ แก้ที่สังคมไทยที่กำลังป่วย ไม่ว่าจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความเท่าเทียมของหญิงชาย เปลี่ยนพฤติกรรมแม่ผัวลูกสะใภ้ในละครไทยหลังข่าวให้เบาๆลง ที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างสังคมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ฟังความเห็นต่างและให้เกียรติคนอื่น ทั้งต่อหน้าจริง รวมทั้งหน้าจอคอมพ์กลับมา ลดโอกาส หรือสิ่งเร้าในการก่ออาชญากรรมลงสู่ในระดับที่ไม่รุนแรงเช่นปัจจุบัน
ถ้าถึงวันนั้น น้องๆคงอยากแต่งงาน!!!
ประอร นพคุณ