เศรษฐกิจไทยกู่ไม่กลับ ปีนี้ลดต่อเหลือโต 1.5%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทยกู่ไม่กลับ ปีนี้ลดต่อเหลือโต 1.5%

Date Time: 18 ก.พ. 2563 08:01 น.

Summary

  • สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 62 ขยายตัวเพียง 1.6% ต่ำกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 2.6% ถือว่าขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 62 ขยายตัวแค่ 2.4% ลดลง จากที่คาด 2.6%

Latest

“พิชัย”หวังดึงทัพลงทุนญี่ปุ่นกลับไทย  โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีฟอรั่มใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

คลังตาเหลือกเร่งหามาตรการออกมากระตุ้น

สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 62 ขยายตัวเพียง 1.6% ต่ำกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 2.6% ถือว่าขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 62 ขยายตัวแค่ 2.4% ลดลง จากที่คาด 2.6% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 63 ขยายตัวได้เพียง 2% ส่วนแบงก์ชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจกลับมาโตเกิน 3%ในปี 64 ด้านคลังพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 เติบโต 2.4% จากเดิมที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจปี 62 โต 2.6% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวได้เพียง 1.6% ลดลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.4%

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการโดยเฉพาะสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้ส่งออกของไทยติดลบ 3.6% ภาคการเกษตรติดลบ 1.6% เนื่องจากภัยแล้ง การลงทุนในอุตสาหกรรมติดลบ 2.3% ภาคการก่อสร้างติดลบ 1.9% และการบริโภคภาครัฐติดลบ 0.9% นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ทั้งปีภาคการส่งออกติดลบถึง 3.2% ส่วนเรื่องท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งทางด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 63 คาดว่า จะขยายตัวในช่วงระหว่าง 1.5-2.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากครั้งก่อน เมื่อ 18 พ.ย.62 ที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยขยาย 2.7-3.7% ส่วนสาเหตุที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้ในระดับ 2% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะค่อยๆเริ่มกลับมา

นอกจากนี้ สศช.ยังประเมินว่า การส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ 2% เมื่อสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย การเบิกจ่ายงบประมาณจะเป็นปกติตั้งแต่เดือน เม.ย.63 เป็นต้นไป หลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย 2563 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับกระทรวงการคลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เผยว่า ตัวเลขจีดีพีปี 62 ที่สภาพัฒน์ประกาศนั้นถือว่าต่ำกว่าตัวเลขการขยายตัวของที่ ธปท. ประมาณไว้ ณ เดือนธันวาคม 62 ซึ่งคาดว่าปี 62 จะโต 2.5% และปีนี้โต 2% สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 64 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม

ส่วนนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เผยว่า หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2562 ขยายตัว 1.6% และตลอดทั้งปี 62 ขยายตัว 2.4% ซึ่งต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องมาจากมีปัญหาการส่งออกและการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 63 ล่าช้า ดังนั้น คลังจึงเตรียมออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในกลางเดือน มี.ค.นี้

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่า จากที่จีดีพีในไตรมาส 4 ปี 62 ชะลอลงนั้น สศค.มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และฐานะทางการคลัง ซึ่งสะท้อนจากหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ที่อยู่เพียง 41.3% เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ