นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การพิจารณากำหนดภาษีความเค็มและภาษีสรรพสามิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ (เบียร์ 0%) น่าจะเลื่อนออกไปก่อน เพราะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย ต้องใช้บุคลากรในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากการแพร่ระบาดคลี่คลายจะนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่ สำหรับภาษีความเค็มจะใช้มาตรฐานการบริโภคโซเดียมขององค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน โดยจะเก็บภาษีจากอาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และโจ๊กสำเร็จรูป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดว่า การบริโภคอาหารเหล่านี้ใน 3 มื้อต่อวัน ปริมาณโซเดียมควรอยู่ที่เท่าไร เพื่อไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
ขณะที่การกำหนดภาษีสรรพสามิตเบียร์ 0% ต้องกำหนดนิยามของ “เบียร์ 0%” ให้ชัดเจนก่อน เพราะปัจจุบันเบียร์ 0% ถูกเก็บภาษีในหมวดเครื่องดื่มที่เป็นน้ำหวานที่ 14% ขณะที่ภาษีสรรพสามิตเบียร์ 28% คาดว่าอัตราจัดเก็บของเบียร์ 0% น่าจะอยู่ระหว่างอัตราจัดเก็บภาษีของน้ำหวานและเบียร์ “นักวิชาการเห็นว่า เก็บภาษีเบียร์ 0% สูงกว่าน้ำหวานไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อภาครัฐต้องการให้คนลดบริโภคแอลกอฮอล์ การดื่มเบียร์ 0% น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่กรมมองว่า การทำตลาดเบียร์ 0% เป็นการให้คนเริ่มทดลองดื่ม จึงต้องกำหนดให้เบียร์ 0% อยู่ในหมวดเครื่องดื่มประเภทเบียร์ เพื่อให้กฎหมายควบคุมได้ เช่น ห้ามจำหน่ายในเวลาที่กำหนด ห้ามจำหน่ายใกล้สถานศึกษา เป็นต้น”
ส่วนโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมในเดือน มี.ค.63 เพราะภาคการท่องเที่ยวซบเซาลง สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 63 (ต.ค.62-ม.ค.63) อยู่ที่ 212,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 27,200 ล้านบาท หรือสูงขึ้น 14.71% โดยสินค้าจัดเก็บได้สูงสุดคือภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ภาษีรถยนต์, ภาษีเบียร์, ภาษีสุรา และภาษียาสูบ.