นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ทำข้อสรุปให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือไม่ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์รายงานความคืบหน้า รวมทั้ง ผลการศึกษาข้อดี และข้อเสีย โดยยืนยันว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมจะไม่มีผลกระทบกับเรื่องสิทธิบัตรยา
จากการรายงาน กลุ่มประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี ซึ่งมีทั้งหมด 11 ประเทศจะจัดประชุมครั้งใหญ่ ในเดือน ส.ค.นี้ และผู้นำกลุ่มอยากให้ไทยตอบกลับให้ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำข้อสรุปเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยหากผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาต่อรองในเรื่องการค้า การลงทุนและอัตราภาษีต่างๆต่อไป
“ยืนยันว่าหากลงนามเข้าร่วมซีพีทีพีพีแล้วมีผลกระทบต่อประชาชน เราจะต้องต่อรองอย่างแน่นอน โดยจะต้องดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องอ่อนไหวของเรา ก็จะตั้งทีมเพื่อมาเพื่อเจรจาจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาที่กรมได้นำเสนอ พบว่า การเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยเพิ่มขึ้น 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท เทียบกับปี 61 การลงทุนเพิ่ม 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท, การส่งออกเพิ่ม 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท แต่ถ้าไม่เข้าร่วมจะทำให้จีดีพีลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท และยังจะช่วยเปิดตลาด เพราะสมาชิกนำสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันในสัดส่วน 90-95% มาลดภาษีเป็น 0% และยังจะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแคนาดา และเม็กซิโก ที่ไทยไม่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย
ส่วนข้อกังวลเรื่องจะไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (ซีแอล) นั้น เรื่องนี้ถูกถอนไปตั้งแต่สหรัฐฯถอนตัวจากการเจรจาเมื่อปี 60 ขณะที่จะมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.