ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย ธุรกิจกระทบหนัก "วิกฤติไวรัสโคโรนา"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย ธุรกิจกระทบหนัก "วิกฤติไวรัสโคโรนา"

Date Time: 10 ก.พ. 2563 05:05 น.

Summary

  • นับถึงวันนี้ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” กลายเป็นวิกฤติครั้งใหม่ของคนทั้งโลก กระทบในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่ส่งผลกระทบต่อ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นับถึงวันนี้ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” กลายเป็นวิกฤติครั้งใหม่ของคนทั้งโลก กระทบในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่ส่งผลกระทบต่อ “ภาคเศรษฐกิจและสังคม” ของไทย ทั้งภาคการท่องเที่ยว การผลิต ส่งออก ใช้จ่าย ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

“ทีมเศรษฐกิจ” อัปเดตสถานการณ์ล่าสุด ในแต่ละภาคส่วน รวมถึงได้สัมภาษณ์ “กูรู” และรวบรวมความคิดเห็นด้านต่างๆ ถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนา ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพื่อให้ภาคธุรกิจและคนไทยวางแผนรับมือ

******

เริ่มต้นที่ภาคแรก “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้คนเกี่ยวข้องมากถึง 4 ล้านคน และเป็นธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบ ในทันทีที่รัฐบาลจีนออกประกาศ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้บริษัทนำเที่ยวในจีนหยุดกิจกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ห้ามพาประชาชนจีนออกไปเที่ยวทั่วโลก ห้ามจำหน่ายแพ็กเกจท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบิน หรือจองโรงแรมให้กับชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที)

ส่งผลให้กรุ๊ปทัวร์จากจีนที่เข้าไทยชุดสุดท้ายหมดลงในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่คนจะมาเที่ยวแบบเอฟไอทีก็ต้องหยุดชะงักลงเช่น กัน นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เคยเข้าไทยเฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน หรือวันละ 30,000 คน เป็นอันลดลงไปถึง 80% เหลือผู้ที่จำเป็นเดินทางอยู่เท่านั้น อาทิ นักธุรกิจ นักเรียน คนที่ทำงานในไทย วันละ 3,000 คน หรือลดฮวบลงไปมากกว่า 80%

โดยในเบื้องต้น หลังจาก ททท.ได้จัดประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อประเมินผลกระทบ ททท.ตัดสินใจปรับลดเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวรวมจากตลาดในและต่างประเทศของปีนี้ อยู่ที่ 2.91 ล้านล้านบาท ติดลบ 3.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยประเมินว่า ในปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปถึง 4.78 ล้านคนจากเป้าหมายเดิม ทำให้รายได้ตลาดต่างประเทศจะหายไปถึง 250,000 ล้านบาท

สอดคล้องกับการประเมินของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มองว่า ตลอดปีนี้ไทยจะสูญเสียรายได้ 300,000 ล้านบาท เพราะนอกจากคนจีนไม่เดินทางแล้ว คนในประเทศอื่นก็หยุดการท่องเที่ยวไว้ก่อนด้วย

ทั้งนี้ “กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา” ตั้งสมมติฐานผลกระทบไว้ 4 ช่วง คือ กรณีที่ 1 จีนห้ามเดินทาง ม.ค.-มี.ค.63 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลด 1.47-1.98 ล้านคน รายได้จะหายไป 67,000-91,000 ล้านบาท กรณีที่ 2 ห้ามเดินทาง ม.ค.-เม.ย.63 นักท่องเที่ยวจีนจะลดลง 2.16-2.83 ล้านคน รายได้ลด 99,000-130,000 ล้านบาท กรณีที่ 3 จีนห้ามเดินทาง ม.ค.-มิ.ย.63 นักท่องเที่ยวจีนจะลดลง 3.23-4.37 ล้านคน รายได้หายไป 148,000-201,000 ล้านบาท และกรณีที่ 4 ห้ามเดินทาง ม.ค.-ก.ย.63 นักท่องเที่ยวจีนจะลดลง 5.21-7.07 ล้านคน รายได้หายไป 240,000-325,000 ล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา มีการระบาดไปทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยเราเดือนนี้กับเดือนหน้าคงเป็นช่วงเวลาของความยากลำบาก และถ้ารัฐบาลจีนยังหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ไม่ได้ ผลกระทบการท่องเที่ยวของไทยอาจล่วงเลยไปถึงเดือน มิ.ย. และกระทบในระบบเศรษฐกิจทุกสาขา

“ผมคุยกับไทยสมายล์ว่า เราคงต้องหาช่องทางโปรโมตการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้นจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม คงต้องคุยกันใกล้ชิด ส่วนสายการบินอื่น อย่างไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเขายกเลิกเที่ยวบินตรงไปอู่ฮั่นเลยเพราะไม่มีผู้โดยสารเดินทางเลย ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาไทยหายไปราว 300,000 คน ก็อยากให้มาคุยกับ ททท. เพื่อช่วยกันหาลู่ทางรักษาธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยไว้”

ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า ททท.พยายามหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยอันดับแรกคือ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินให้สายการบินต่างๆ พร้อมหาซอฟต์โลนช่วยเหลือ “เทียบโรคซาร์ส กับ ไวรัสโคโรนาแล้ว โรคซาร์สมีความรุนแรงในการระบาดสูงกว่า แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้น แต่ที่สุดเชื่อว่าจีนจะหยุดยั้งได้”

ทอท.อ่วม-สายการบินเจ๊งหมื่นล้าน

อีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาเต็มๆ คือ ธุรกิจการบิน โดยเริ่มจากผู้บริหารสนามบินรายใหญ่ อย่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งประเมินว่าผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่น ในรอบนี้อาจทำให้ยอดผู้โดยสารพลิกกลับจากขยายตัวต่อเนื่องเป็นติดลบ

โดยช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเหตุระบาด และหยุดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 จนถึงวันที่ 22 ม.ค.63 พบว่า มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการผ่านสนามบิน 6 แห่ง ที่ ทอท.ดูแล ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย เพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับปีก่อน

แต่ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1-6 ก.พ. 63 นี้ ผู้โดยสารใช้บริการสนามบินไปแล้วติดลบ 22.8% หรือหายไปวันละ 100,000 คน จากปกติที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 430,000 คน และหากนับรวมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 62–6 ก.พ.63 พบว่าผู้ใช้บริการสนามบินของ ทอท.ขยายตัวเหลือเพียง 0.9% และคาดว่าก่อนจบตารางการบินฤดูหนาวปลายเดือน มี.ค.นี้ จะติดลบอย่างมีนัยอย่างแน่นอน

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. เร่งปรับตารางบินเพื่อลดผลกระทบเป็นการเร่งด่วน โดยให้สายการบินที่ขอยกเลิกตารางการบินล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันจะได้รับโบนัสเพิ่มพิเศษ สนับสนุนเงินช่วยเหลือสายการบิน 200 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน สำหรับเที่ยวบินที่ทำการบินขาออกทดแทน พร้อมให้ส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน 50% ของอัตราปกติ ทั้งเที่ยวบินพิเศษ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ

ขณะที่ “ธุรกิจสายการบิน” เจ็บหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไม่แพ้กัน โดยเบื้องต้นมีหลายสายการบินประกาศยกเลิก-ลดเที่ยวบินไปจีนนานกว่า 1 เดือน รวมถึงเปิดคืนเงินแก่ผู้โดยสารที่จองตั๋วไว้แล้ว โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดให้คืนเงินหรือเปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เส้นทางไปกลับสู่ 9 เมืองในจีน ไทยแอร์เอเชีย คืนเงินเต็มจำนวนหรือเปลี่ยนเป็นคะแนนแอร์เอเชียในทุกเที่ยวบินที่เข้าออกทุกเมืองของจีน

ไทยไลอ้อนแอร์ เปิดให้ขอคืนเงินเต็มจำนวน หรือเปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เส้นทางไปกลับดอนเมืองกับทุกเมืองในจีน ไทยสมายล์ ให้คืนเงินหรือเปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ กับ 3 เมืองของจีน ได้แก่ เจิ้งโจว ฉงชิ่ง และฉางซา

โดยมีการประเมินว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส จะทำให้ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย ได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะส่วนใหญ่เป็นการเปิดเที่ยวบินประจำ ขณะที่ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยสมายล์จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะเที่ยวบินไปจีนไม่เยอะ และส่วนใหญ่เป็นชาร์เตอร์ไฟลท์

คาดว่า ตลอดปี 63 มูลค่าธุรกิจสายการบินในประเทศจะหดตัวลง 4.3–6.2% เหลือเพียง 294,000–300,000 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยอัตราบรรทุกผู้โดยสารลดลงเหลือ 72–73.4% จากปกติที่ 80% และผลจากเหตุการณ์นี้ จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าส่วนแบ่งทางการตลาดไป 8,000–11,000 ล้านบาท

ศูนย์การค้า-ย่านท่องเที่ยวร้างผู้คน

กระแสของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา นอกเหนือจากจะทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนหายไปแล้ว ยังสร้างความตื่นกลัวให้กับประชาชนชาวไทยงดเที่ยว ในย่านการค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวและร้านค้าในย่านท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งใน กทม.ซบเซา

โดยเฉพาะพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ชาวจีนนิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะพระแก้วมรกต พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.63 เป็นต้นมา เหลือนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเพียงวันละ 7,000 คน จากปกติมียอดจำหน่ายบัตรเข้าชมเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 คน

เช่นเดียวกันที่ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศ ในโซนสุขสยาม รวมถึงร้านสินค้าแบรนด์ดังอย่าง H&M หรือ ZARA ซึ่งเคยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน ตกอยู่ในสภาพเงียบเหงา ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล่าพ่อค้าแม่ค้าโซนสุขสยามจำนวนกว่า 5,000 รายในไอคอนสยาม ประสบปัญหาอย่างมาก และขอวอนคนไทยช่วยคนไทยชวนมาอุดหนุนสินค้าของคนไทยเพิ่มขึ้น

นางบุปผา ล้วนวิลัย แม่ค้าจำหน่ายสินค้าพวงกุญแจสินค้าที่ระลึก ของดีย่านฝั่งธนบุรี กล่าวว่า ตอนนี้รายได้หายไปเกินกว่า 80% นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.เป็นต้นมา ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเดินซื้อของเลย ปกติลูกค้าหลักของร้าน คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ รวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่มาเดินเที่ยวแต่ไม่ได้ซื้อของ เช่นเดียวกับ น.ส.ฮัสนา ราชสาร เจ้าของร้านโรตีบังบ่าว ร้านดังจาก จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รายได้หายไปกว่า 90% ปกติขายโรตีได้ไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัม (กก.) ต่อวัน ตอนนี้ขายไม่ถึง 4 กก.ต่อวัน ทำให้ต้องประหยัดอย่างมาก โชคดียังพอมีลูกค้าประจำที่เป็นคนไทยและชาวตะวันตกที่ทำงานในย่านนี้ยังอุดหนุนอยู่

เอเชียทีค
เอเชียทีค

ท่องเที่ยว-ส่งออกซมพิษโรคระบาด

ขณะที่ นางโสภา ทาอ้าย ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านคลองศาลาพัฒนา จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจำหน่ายอาหารพื้นเมือง หวังว่าสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้จะคลี่คลายโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นกลุ่มบ้านคงไม่รอด เพราะจากวิกฤติไวรัสโคโรนา ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีนหายไป นักท่องเที่ยวคนไทยที่เคยมาจับจ่ายซื้อของในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็หายไปด้วย

ด้าน ศูนย์การค้าเอเชียทีค ถ.เจริญกรุง ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ช็อปปิ้งยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน บรรยากาศส่วนใหญ่ค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงนักท่องเที่ยวชาติตะวันตก และประเทศอาเซียนเดินจับจ่ายซื้อของบางตา นางนิภาพร สุขสวัสดิ์ แม่ค้าเสื้อผ้าและของที่ระลึก กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่นี่ซบเซามาสักระยะแล้ว แต่ก็พออยู่กันได้ด้วยกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเป็นกลุ่มทัวร์ แต่พอเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนา ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ปีนี้มา ไม่มีลูกค้าเลย แม้ว่าจะยังพอมีนักท่องเที่ยวชาติอื่น และคนไทยมาเดินเที่ยวอยู่บ้าง แต่ก็แค่มาเที่ยวถ่ายรูป ไม่ได้ซื้อของแบบชาวจีน

ขณะที่ห้างสรรพสินค้าใจกลาง กทม. ในย่านแยกราชประสงค์ ศูนย์การค้าสยาม-พารากอน บรรยากาศโดยรวมยังมีผู้คนมาเดินอยู่พอสมควร แต่ไม่หนาแน่นเหมือนช่วงก่อนหน้า ซึ่งกลุ่มคนที่เดินก็จะเป็นคนไทยเป็นหลัก กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนลดลงเห็นได้ชัด

สยามเซ็นเตอร์
สยามเซ็นเตอร์

ขยับมาที่ “สยามเซ็นเตอร์” แหล่งที่เดินยอดฮิตของกลุ่มวัยรุ่น บรรยากาศก็ไม่แตกต่างคือผู้คนเบาบาง ก็ยังคงมีกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา มาเดินเล่นกับเพื่อน นั่งทานข้าว-ขนม อยู่บ้างประปราย ขณะที่ร้านจำหน่ายชานมไข่มุกสุดฮิตในยุคนี้ “FIRE TIGER” ที่เดิมทีจะต้องยืนจนขาเมื่อยเพราะคิวแสนยาว แต่วันนี้กลับไร้คนต่อแถวซื้อ

สำรวจต่อที่ ศูนย์การค้า “เซ็นทรัลเวิลด์” พบว่าบรรยากาศโดยรวม เห็นได้ชัดเจนว่ามีนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก โดยร้าน “นารายา” ที่แต่ก่อนจะเห็นภาพคิวต่อแถวจ่ายเงินยาวเหยียด รวมถึงบรรยากาศเลือกซื้อของกันแน่นร้านของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ตอนนี้ไร้ซึ่งภาพนั้น จากการสอบถาม พนักงานขายบอกว่า หลังจากมีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยอดนักท่องเที่ยวจีนลดวูบ เช่นเดียวกับโซนเคาน์เตอร์จำหน่ายเครื่องสำอางที่เงียบสงัด

แพลตตินัม
แพลตตินัม

ศูนย์การค้า “แพลตตินัม แฟชั่น มอลล์” ศูนย์การค้ายอดฮิตของนักท่องเที่ยวจีน วันนี้จำนวนคนเดินไม่หนาแน่นเท่าไร ที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนลดลงไปอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ น.ส.ศิริลักษณ์ ชั้น-สถาพรกุล ผู้ประกอบการร้านเสื้อผ้าเด็กลิขสิทธิ์แท้ “คลูแพลเน็ต” บอกว่า ไวรัสโคโรนาที่เป็นปัญหา ตอนนี้กระทบยอดขายอย่างมาก อย่างร้านของตนยอดขายลดลงกว่า 70% พูดได้ว่าจากเคยขาย ได้หลักแสนบาทต่อวัน แต่ตอนนี้เหลือหลักหมื่นต่อวัน ซึ่งหากหักลบในเรื่อง ค่าเช่า ค่าจ้าง ต้นทุนต่างๆ ก็แทบจะไม่มีกำไรเหลือ

มาที่ฝั่งนนทบุรี นางสาวพรทิพย์ วังจำนงค์ เจ้าของร้านขายเสื้อผ้า ในห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต เปิดเผยว่า จากกรณีโรคระบาดโคโรนาทำให้มีลูกค้ามาเดินห้างน้อยลง ทำให้ยอดขายลดลงไปกว่า 50% ช่วงวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ มีคนมาเดินช็อปปิ้งน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลัวติดโรคไวรัสโคโรนา ส่วนอีก สาเหตุเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา

“ทำเลตรงเวสต์เกตถือว่าเป็นทำเลที่ดี แต่ก่อนยังขายได้บ้าง เพราะคนแถวนี้ยังมีกำลังซื้อ ซึ่งส่วนมากจะมาเดินซื้อของวันธรรมดา แต่ปัจจุบันคนมาเดินซื้อของแทบไม่มีเลยทั้งวันธรรมดา และวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือถึงมาเดินก็ไม่ซื้อของมาเดินตากแอร์เท่านั้น เพราะคนไม่อยากใช้เงิน ตั้งแต่ขายของมากว่า 30 ปี ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่แย่ที่สุด”

ภาคการผลิต-ส่งออกกระทบสาหัส

ขณะที่ในภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งประเทศไทย แหล่งผลิตที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนจำนวนมาก นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา เหนือความคาดหมายที่หลายๆฝ่ายประเมินไว้

โดยเฉพาะการระบาดในประเทศจีน ที่กินพื้นที่ครอบคลุม 14 มณฑล ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางข้ามมณฑลที่มีการแพร่ระบาด การหยุดการเรียนการสอน ให้โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการ ส่งผลให้การส่งออกวัตถุดิบทั้งภาคเกษตรกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกหลักไปยังจีน ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะปกติจีนจะนำเข้าวัตถุดิบจากไทย ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้วัตถุดิบเหล่านี้ต่างตกค้างที่ท่าเรือ และกรมศุลกากรที่จีน ไม่สามารถส่งต่อไปยังผู้นำเข้าได้

ที่สำคัญการชัตดาวน์ 14 มณฑลหลักของจีน เกือบทั้งหมดครอบคลุมฐานการผลิตสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญๆของจีน หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ที่มีผลต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพราะสินค้าที่ผลิตจาก 14 มณฑลคิดเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปในตลาดโลกในสัดส่วนถึง 80% ของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนทั้งประเทศ อาทิ เมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยุคใหม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต หรือเมืองเซี่ยงไฮ้ ก็เป็นเมืองที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก มณฑลเหอเป่ย ก็เป็นฐานการผลิตไอแพด ไอโฟน โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

เซ็นทรัลเวิลด์
เซ็นทรัลเวิลด์

ดังนั้น เพื่อเป็นการตั้งรับปัญหาที่อาจลุกลามต่อเนื่อง ส.อ.ท.จึงได้ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมของไทยจากปัญหาไวรัสโคโรนา เพื่อตรวจสอบว่าจะมีอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบบ้าง และได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร รวมทั้งแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จัดเตรียมแผนรองรับหากการระบาดยังลุกลามต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 โดยได้สอบถามครอบคลุมทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกนี้

“ปีที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาสงครามการค้า ทำให้ยอดส่งออกสินค้าทุกชนิดทุกประเภทไปตลาดจีนลดลงต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าในปีนี้ การส่งออกไปตลาดจีน ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 12% ของการส่งออกของไทยไปทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา ก็จะลดลงต่อเนื่องในปีนี้

“ภายใต้สมมติฐานไวรัสระบาดและสามารถแก้ไขปัญหาให้ลดความรุนแรงหรือยุติลงภายใน 6 เดือนแรกของปีนี้ เท่ากับว่าในปีนี้ไทยจะเหลือเวลาส่งออกอีกเพียง 6 เดือนหลังเท่านั้น และระเบิดเวลาที่ทุกคนไม่ค่อยคิดถึงกันก็คือ การส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศที่คิดเป็น 24% ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย ก็จะสั่งลดการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ที่ส่งออกต่อไปยังจีน ให้จีนนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่ใส่นวัตกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลกอีกทอดหนึ่ง ที่จะลดลงตามไปด้วย”

ขณะที่ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เพราะสินค้าที่ส่งออกไปจีนตั้งแต่ก่อนตรุษจีน และไปถึงจีนในช่วงที่จีนสั่งปิดประเทศพอดี ไม่สามารถขนสินค้าออกจากเรือได้ หรือถ้าขนออกจากเรือได้ก็ไม่สามารถขนส่งไปยังเมืองต่างๆ ของจีนได้ ทำให้มีสินค้าไทยตกค้างอยู่ในเรือขนส่ง และท่าเรือจำนวนมาก

โดยสินค้าอุตสาหกรรม หรืออาหารแปรรูป หรือไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่สามารถเก็บไว้ได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องเสียค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ ต่อไปอีกจนกว่าจะขนสินค้าออกมาได้ ส่วนสินค้าที่เน่าเสียง่าย อย่างผักสด ผลไม้สด ผู้ส่งออกได้รับความเสียหายไปเต็มๆ และไม่สามารถไปเรียกร้องความรับผิดชอบได้ เพราะการปิดประเทศเป็นคำสั่งจากรัฐบาลจีน ซึ่งตรงนี้ยังบอกไม่ได้ว่า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไร

อีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ที่ไทยพึ่งตลาดจีนมาก ถ้าการปิดประเทศยังยืดเยื้อ หรือเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จะทำให้ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จะขาดเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมได้

สรท.ประเมินว่า ในระยะสั้นการระบาดของไวรัสโคโรนา จะทำให้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท หรือ 0.87% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีน และคาดว่าจะทำให้การส่งออกรวมของไทยไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวเพียง 0.1% แต่ถ้าปัญหายืดเยื้อ ความเสียหายจะหนักมาก ไม่ใช่เฉพาะสินค้าไทยเข้าจีนไม่ได้ แต่จีนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของทั้งโลก จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกอย่างหนัก ส่วนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย จะเสียหายถึง 600,000-750,000 ล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 1.89 ล้านคน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ