หากพูดคำว่า “นวัตกรรม” และ “สิ่งแวดล้อม” ดูเหมือนว่าความหมายของสองคำนี้อาจจะสวนทางกัน แต่จริงๆ แล้ว สองคำนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่คือ “มนุษย์” สามารถเป็นผู้สร้างทั้งสองสิ่งนี้ได้
นวัตกรรม - ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว
สิ่งแวดล้อม - สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้น ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ในฐานะของหน่วยงานให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จำหน่ายกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ความมุ่งมั่นนี้ไม่ได้เพียงพัฒนาการให้บริการด้านระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ หรือพัฒนาระบบไฟฟ้าอัจฉริยะเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อันเป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตของทุกคน
ENERGY + ENVIRONMENT + INNOVATION สู่ ENnovatoin
MEA ไม่เพียงแต่หยิบเรื่องนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกเรานั้นมีความยั่งยืนอย่างแท้จริงมาใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด และกระจายแนวความคิดเหล่านี้ไปสู่ภาคปฏิบัติที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมจริงอีกด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการนวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (ENnovation School)
นับเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ เพราะ “โรงเรียน” นั้นเป็น “สังคมขนาดเล็ก” ที่เป็นแหล่งสร้าง “ผู้ใหญ่ในอนาคต” ดังนั้นการเริ่มปลูกฝังความคิดในการใช้พลังงานให้สอดคล้องและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น “นวัตกรรม” ที่ใช้งานได้จริงนั้นส่วนใหญ่เกิดจากคนที่มองเห็นปัญหา และอยากแก้ไขปัญหาเหล่านั้น การริเริ่มโครงการนี้โดยให้นักเรียนและสถานศึกษาเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม!
ENnovation School โรงเรียนคิดค้นนวัตกรรมของตัวเอง
22 โรงเรียนในเขตพื้นที่จำหน่ายไฟของ MEA ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เข้าร่วมประกวดโครงการนี้ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยจัดสัมมนาอบรมให้ความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดทำนวัตกรรมและแผนงานต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูความก้าวหน้า และประเมินโครงการร่วมกับคณะกรรมการที่มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอื่นๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ได้จัดงานประกาศผลชนะเลิศ พร้อมจัดพิธีรับถ้วยรางวัลชนะเลิศประทานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า “การไฟฟ้านครหลวง ให้ความสำคัญกับเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และนำไปใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการ ENnovation School จึงได้ให้แต่ละโรงเรียนนั้นใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาของแต่ละแห่ง และสามารถอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนได้จริง ซึ่งโครงงานแต่ละชิ้นนั้น นอกจากจะใช้งานในโรงเรียนตัวเองแล้ว ทาง MEA จะเก็บเป็นแผนงานให้โรงเรียนอื่นๆ ได้ศึกษา และต่อยอดไปปรับใช้ต่อ ซึ่งจะนำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นอีกต่อไปด้วย”
ทั้งนี้ การประเมินและให้รางวัลแบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ สาขานโยบายและแผนงาน สาขาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สาขาการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสาขานวัตกรรม และรางวัลสูงสุดคือ Best of The Best ที่มีผลคะแนวรวมสูงสุดจากทุกสาขา การประกวดโครงการครั้งนี้ทำให้เกิดชิ้นงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มากถึง 22 ชิ้นงาน
Best of the Best ENnovation School Award สตรีวิทยา - ระบบระบายความร้อนแบบประหยัดพลังงาน
ปัญหาความร้อนภายในโรงอาหารหลังจากติดกันสาดป้องกันฝนที่โรงเรียนสตรีวิทยา กลุ่มนักเรียนจึงได้ทำการศึกษานวัตกรรมระบบหลังคาระบายความร้อนด้วยลมธรรมชาติ และประยุกต์แนวคิดนี้มาปรับใช้กับพื้นที่ของโรงเรียน จนเกิด “ระบบระบายความร้อนแบบประหยัดพลังงาน” ที่มีการทำงานสามารถตรวจจับอุณหภูมิและความชื้น ควบคุมระบบเปิดได้เมื่ออุณหภูมิสูง และปิดอัตโนมัติเมื่อเย็นลงหรือฝนตก ผลการทดลองที่น่าพอใจ ความร้อนภายในโรงอาหารลดลง ประหยัดการใช้ไฟฟ้าในการเปิดพัดลมระบายอากาศจำนวนมาก
โครงงานนี้สามารถคว้ารางวัล Best of the Best ENnovation School Award รับประทานถ้วยรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และรางวัลชนะเลิศในอีกหลายสาขา
“โรงเรียนสตรีวิทยามีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ให้นักเรียนเป็นเยาวชนนวัตกร เก่งเรียนรู้รอบด้าน สำหรับครั้งนี้ เราได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้วิเคราะห์สภาพปัญหาในโรงเรียน เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า ที่ปัจจุบันสูงถึงเดือนละ 6 แสนบาท ซึ่งถ้านำระบบระบายความร้อนนี้มาใช้จริงจะเป็นการช่วยโรงเรียนได้” ดร.วรรณดี นาคสุขปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา และนางสาวชญาภรณ์ พฤกษ์สิริสมบัติ หัวหน้ากรรมการโครงการกล่าวหลังได้รับรางวัล และ 2 โรงเรียนตัวอย่าง จากสาขาด้านนวัตกรรม ที่ได้รับรางวัลที่ 1
บดินทรเดชา 2 - โซลาร์สเปรย์ ป้องกันฝุ่น PM 2.5
เนื่องจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 ตั้งอยู่ในเขตบึงกุ่ม พื้นที่ที่มีละอองฝุ่นขนาดเล็กหนาแน่นมาก จึงทำให้กลุ่มนักเรียนคิดค้นเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นภายในบริเวณโรงเรียน โดยใช้หลักการทำงานของพลังงานแสงอาทิตย์มาควบคุมการทำงาน เมื่อวัดค่าฝุ่นได้จะทำการแจ้งเตือนนักเรียนผ่านระบบไลน์ว่าตอนนี้ยังต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือไม่
ฤทธิณรงค์รอน – ระบบไฟอัจฉริยะ
จากปัญหาเล็กๆ ที่อาจลืมปิดไฟตามห้องเรียนต่างๆ จึงได้เกิดการคิดค้นการควบคุมการเปิดปิดไฟผ่านแอปพลิเคชัน ที่นักเรียนได้เขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง ดังนั้น เพียงแค่มี Wifi และสมาร์ทโฟน ก็สามารถสั่งปิดไฟได้จากทุกพื้นที่เมื่อมีการแจ้งเตือนจากระบบเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ที่หลอดไฟ ผลที่ได้จะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ และสามารถนำไปต่อยอดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ต่อไปได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างนวัตกรรมของเยาวชนไทยในยุค 4.0 ที่สามารถนำความรู้มาปรับใช้งานได้จริง และเป็นสัญญาณที่ดีมากที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนในสังคมช่วยกันในวันนี้จะทำให้สิ่งแวดล้อมและโลกของเรากลับมาสมดุลและน่าอยู่อีกครั้ง เราต้องช่วยกัน
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร Energy for city life, Energize smart living