“จุรินทร์” บุกโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ตรวจสอบกำลังการผลิต ยันสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการใช้ ขอประชาชนอย่าแห่กักตุน ซื้อเท่าที่จำเป็น พร้อมตั้งวอร์รูม ให้กรมการค้าภายในประสานผู้ผลิต ผู้ขายส่ง ร้านค้าปลีก จัดของขายอย่าให้ขาดและให้ตรวจตลาดถี่ยิบ สกัดการโก่งราคา ด้านกรมศุลฯ ปล่อยฟรีนำเข้า “หน้ากากกันฝุ่น-โคโรน่า” ยกเว้น! นำเข้าเพื่อการค้า พร้อมตรวจเข้มสกัดสำแดงเท็จหวังเลี่ยงภาษี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อดูว่า โรงงานมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการในขณะนี้ ที่ประชาชนในประเทศจำเป็นต้องใช้ในการป้องกันไวรัสโคโรนาหรือไม่ ซึ่งพบว่า ในประเทศมีโรงงานใหญ่ๆ 10 แห่ง ผลิตได้รวมกันเดือนละ 100 ล้านชิ้น แต่มีความต้องการใช้เฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านชิ้น หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และความต้องการใช้เพิ่มจาก 30 ล้านชิ้น เป็น 40 และ 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเบื้องต้น ยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ และสต๊อกปัจจุบัน มีมากถึง 200 ล้านชิ้น สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างน้อย 4-5 เดือน ถ้าไม่มีการผลิตเพิ่ม
“ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และกังวลว่าจะไม่มีหน้ากากอนามัยเพียงพอนำไปใช้ป้องกันไวรัส และไม่อยากให้ไปกว้านซื้อ เพราะกลัวว่าของจะขาดตลาด ถ้ายิ่งตระหนก ยิ่งกว้านซื้อมาเก็บ จะยิ่งเป็นสาเหตุให้ขาดตลาด หรือขาดตลาดเป็นช่วงๆ จึงขอให้ซื้อตามปกติ ซื้อแค่เพียงพอใช้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าผู้ผลิต ทำได้ทันกับ ความต้องการใช้ อยากสื่อสารกับประชาชน ถ้าไม่จำเป็น ไม่อยากให้ซื้อเกินความต้องการ มีใช้เพียงพอแน่นอน”
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างใกล้ชิด และได้ตั้งวอร์รูม โดยมีกรมการค้าภายในเป็นผู้ประสานงานหลัก เพื่อประสานกับผู้ผลิตทั้ง 10 ราย ให้เร่งกำลังผลิต ประสานผู้ขายส่ง ร้านค้าปลีก เพื่อให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งได้ติดตามดูแลเรื่องราคาจำหน่ายให้เป็นธรรม ซึ่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบการจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ป้องกันการกักตุน โก่งราคาแล้ว หากพบปัญหาที่ใดให้รายงานมาโดยเร็ว หรือหากพบมีการทำผิดกฎหมาย ก็ให้จัดการตามกฎหมายทันที ส่วนผู้บริโภค หากไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเรียนที่สายด่วนโทร.1569 หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในจีน เช่น เซี่ยเหมิน หนานหนิง ว่าต้องการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากไทย และขอทราบแหล่งผลิต ซึ่งได้อำนวยความสะดวกไปแล้ว เพราะหน้ากากอนามัยที่ไทยผลิต ใช้ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออก ไม่ได้ปิดกั้นหรือสกัดกั้นการส่งออก โดยผู้ผลิตยังส่งออกไปจีนได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม และช่วยจีนในการรับมือกับการระบาดของไวรัส
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเข้มงวด ทั้งการจำกัดปริมาณการซื้อหน้ากากอนามัยของประชาชน หรือจำกัดการส่งออก เพื่อให้สินค้ามีเพียงพอต่อความ ต้องการใช้ในประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจนถึงขณะนี้ สินค้ายังมีเพียงพอ มีทั้งสต๊อกเก่า และสินค้าที่กำลังผลิตเข้ามาใหม่ แต่ยังคงมีการประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด หากมีความจำเป็น หรือถึงเวลาที่ต้องใช้มาตรการเข้มงวด ก็จะพิจารณาต่อไป
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า กรมศุลกากรได้จัดเก็บภาษีนำเข้าในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสโคโรน่า ว่า กรมศุลกากรไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีกับสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว “หากเป็นการนำเข้าหน้ากาก หรือผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เพื่อใช้ส่วนตัวหรือใช้ในครอบครัว จะไม่มีการจัดเก็บภาษีอย่างเด็ดขาด แต่หากเป็นการนำเข้าเพื่อการค้าจึงจะมีการจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์ ซึ่งผู้นำเข้าสามารถสอบถามรายละเอียดได้จาก “นายอากร” หรือ Custom Chatbot ที่กรมศุลกากรเพิ่งเปิดตัวไป เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา”
นายกฤษฎากล่าวว่า นอกจากนี้กรมศุลกากรยังอำนวยความสะดวก ให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยา ผลิตภัณฑ์ ยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ป้องกัน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างเต็มที่ และเตรียมมาตรการตรวจสอบเข้มข้น เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จว่าเป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้
“หากเป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ก็สามารถนำเข้ามาได้เลย แต่ถ้ามีส่วนผสมของเคมีภัณฑ์ จำเป็นต้องแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำการตรวจสอบและอนุญาตให้มีการนำเข้า”
ส่วนกรณี ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ห้ามมิให้โรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตในโรงงานนั้น ทุกวันนี้แทบไม่มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เนื่องจากการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสียก่อน และปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทยอีกแล้ว.