นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาการจดทะเบียนตั้งบริษัทสตาร์ตอัพของคนไทย ที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่ไปจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์นั้น กระทรวงดีอีเอสได้แจ้งให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะขอเป็นเจ้าภาพในการศึกษารายละเอียดและข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมถึงเรื่องของภาษีด้วย ว่าเหตุใดสตาร์ตอัพไทย ไม่จดทะเบียนในไทย รวมถึงจะหารือกับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ถึงการหาแนวทางการจัดเก็บจากธุรกิจดิจิทัลให้ได้ จากที่ผ่านมาไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะไม่มีระบบที่ชัดเจน เพื่อมิให้สตาร์ตอัพหนีไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆอีก
สำหรับประเด็นการจัดเก็บภาษีออนไลน์จากผู้ให้บริการดิจิทัล เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล นั้น ได้แจ้งไปยังบริษัทดังกล่าว เมื่อครั้งเดินทางไปโรดโชว์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการจัดเก็บภาษีออนไลน์ ขออย่าเพิ่งตกใจ เนื่องจากไทยต้องจัดเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งทุกบริษัทไม่ได้แสดงความตกใจใดๆ โดยแจ้งว่าการไปลงทุนต่างประเทศนั้น ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้นๆในอัตราที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เพียงแต่ไทยไม่มีระบบการจัดเก็บที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ปรับวิธีคิดและแนวการทำงานสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพไทย ได้พบปะกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจสตาร์ตอัพไทย โดยดีป้าต้องเป็นหน่วยงานคัดกรองสตาร์ตอัพของไทยเพื่อจับคู่กับบริษัทใหญ่ๆ
“จากการเดินทางไปดูงานที่ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ รวมทั้งการเยือนบริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด ณ เมืองซีแอตเติล สหรัฐฯ ขณะนี้ไมโครซอฟท์แจ้งว่าในเร็วๆนี้จะลงนามความร่วมมือกับกระทรวงดีอีเอส เพื่อจัดตั้งหน่วยธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และไอโอทีในประเทศไทย ที่ดิจิทัล วัลเลย์ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นรายแรกที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หลังจากไปชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย.