The Issue : รวยก่อนเกษียณ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : รวยก่อนเกษียณ

Date Time: 28 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ปัญหาที่สังคมกำลังเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยประเมินว่า ปีหน้าหรือปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปี

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ปัญหาที่สังคมกำลังเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยประเมินว่า ปีหน้าหรือปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด

และในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงวัย และในจำนวนนี้ ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีมากถึง 3,500,000 คน

ดังนั้น ก่อนที่คนไทยจำนวนมากจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยถึงแม้จะเหลือเพียงแค่ปีเดียวก็ตาม แต่การตระหนัก หรือการให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ คงไม่มีคำว่า “ล่าช้า” หรือ “ไม่ทันต่อเหตุการณ์” เพียงแต่จะเริ่มต้น แล้วเดินตามแผนในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ น่าจะมีความสำคัญมากที่สุด

โดยสามารถแบ่งช่วงอายุการวางแผนการออมออกเป็น 4 ช่วงวัย คือ อายุ 15 ปีขึ้นไป จนถึง 30 ปี วัยนี้เป็นวัยที่มีช่วงอายุการทำงานนานที่สุด บางคน 10 ปี หรือ 15 ปี และยังเป็นวัยที่เริ่มทำเป็นครั้งแรกของชีวิตอีกด้วย อายุ 31 ปี จนถึง 40 ปี คือ วัยที่กำลังสร้างความมั่นคงและสร้างครอบครัว มีรายจ่ายสูงแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้สินเกินตัว อายุ 41 ปี จนถึง 50 ปี เริ่มมีความมั่นคงและวางแผนอนาคตไปข้างหน้า เช่น การศึกษาบุตร มีความระมัดระวังการใช้เงิน และอายุ 51 ปีขึ้นไปจนถึงวัยเกษียณ คนกลุ่มนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีรายได้ประจำและไม่มีรายได้ประจำ ทำให้รายรับลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาสุขภาพ ท่องเที่ยว การทำบุญมีมากขึ้น

ดังนั้น ก่อนที่อายุจะถึง 51 ปีในแต่ละช่วงวัยก็สามารถเริ่มต้นการออมได้เนิ่นๆ ยิ่งออมมากก็ยิ่งมีความมั่นคงในชีวิตสูงขึ้น แต่เรื่องของการออมนั้น มีความไม่แน่นอนสูง เพราะบางคนมีเงินเดือนสูงหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ไม่ได้หมายความว่า จะออมเงินได้มากกว่าที่มีรายได้น้อย เนื่องจากการใช้จ่ายของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน

บางคน “ใช้ก่อน ออมทีหลัง” เช่น ค่าอาหาร ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าโทรศัพท์มือถือ ผ่อนตู้เย็น เครื่องซักผ้า ท่องเที่ยวยามราตรี บางรายหนักมากติดการพนันและยาเสพติด ถ้าหากชีวิตแบบนี้ คงไม่มีเงินออมอย่างแน่นอน

แต่บางคนใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ “ออมก่อน ใช้ทีหลัง” เช่น ออมทุกเดือน 10-20% ของรายได้ ส่วนที่เหลือเป็นค่าอาหาร ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าโทรศัพท์มือถือ ชีวิตก็มีความมั่นคงขึ้นมาได้ หากมีเงินเดือน 10,000 บาท ออมเงิน 10% ทุกเดือนคือ 1,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือน มีเงิน 12,000 บาท ออม 10 ปี มีเงินฝาก 120,000 บาท ซึ่งยังไม่ได้นับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ได้รับกับธนาคารอีกก้อนหนึ่ง

แต่เงินออมดังกล่าวก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ชีวิตมีความมั่งคั่ง มีเงินเหลือใช้ในวัยเกษียณ เพราะคนในวัยเกษียณจะไม่มีรายได้ประจำ หรือมีรายได้ทุกเดือนแต่ก็น้อยกว่ารายได้ที่เคยรับ โดยมีหลักการคำนวณง่ายๆ หากเกษียณในวัย 60 ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี รวมระยะเวลา 20 ปี หรือ 240 เดือน ถ้าหากต้องการใช้เงินเดือนละ 5,000 บาท ต้องมีเงินเก็บ 1.2 ล้านบาท และหาก จะใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ต้องมีถึง 2.4 ล้านบาท

ดังนั้น หากออมเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณจนถึงเสียชีวิต (80 ปี) เดือนละ 5,000 บาท จะต้องเก็บเงินให้ได้ 1.2 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาในการออม 1,200 เดือน หรือ 100 ปี

การออมเงินจึงเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงในชีวิต แต่การจะมีชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่ต้องรวยเป็นมหาเศรษฐี ขอแนะนำว่า ควรออมเงินควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต เพราะไม่มีเศรษฐีคนไหนร่ำรวยจากการออมเงินกินดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์อย่างเดียว

รูปแบบการออมและการลงทุนในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ยอดเงินฝาก อัตราดอกเบี้ย ความรู้ จังหวะในการลงทุน หรือความเชี่ยวชาญของนักสะสม เช่น พระเครื่อง นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อดัง การเก็งกำไรจากที่ดินและที่อยู่อาศัย ล้วนแต่มีผลทำให้เกิดความร่ำรวยและยากจนได้เหมือนกัน

แต่ที่แน่ๆ ใครอยากมีชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบายควรมี 4 สิ่งนี้ คือ 1.รายได้จากดอกเบี้ยปีละ 1 หรือ 2 ครั้ง หรือทุกๆเดือน เช่น มีเงินฝากกับธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน 2.มีรายได้จากเงินปันผล ซึ่งเป็นผลพวงจากการลงทุนก่อนหน้านี้ เช่น สหกรณ์ ตลาดหุ้น ธุรกิจหรือกิจการ 3.มีรายได้จากค่าเช่า เช่น เช่าที่ดิน เช่าบ้าน เช่ารถหรือเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น และ 4.มีรายได้จากเงินบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันสังคม กองทุนการออมเงินชาติ (กอช.) รวมถึงแอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ และเอสเอสเอฟ

แต่ทั้งหมดนี้ ผมขอเพิ่มอีก 1 สิ่งที่ไม่ควรมีคือ “หนี้สิน” เพราะถ้าไม่มีหนี้แล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ จะได้นอนตีพุง ตื่นเช้าออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก อายุถึง 100 ปี ยังมีเงินใช้ให้คนชราญี่ปุ่นอิจฉาเล่นๆครับ.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ