สกู๊ปหน้า 1 : ก.ม.อีอีซีสิทธิพิเศษ พัฒนาพื้นที่เอื้อลงทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สกู๊ปหน้า 1 : ก.ม.อีอีซีสิทธิพิเศษ พัฒนาพื้นที่เอื้อลงทุน

Date Time: 20 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ภายใต้การประกาศพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ “พ.ร.บ.อีอีซี” เครื่องมือสำคัญในการใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ภายใต้การประกาศพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ “พ.ร.บ.อีอีซี” เครื่องมือสำคัญในการใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศ ให้เป็นระบบสอดคล้องกับหลักการพัฒนา โดยเฉพาะการส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม

ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใด ที่อยู่ในภาคตะวันออก กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนี้ มีเป้าหมาย...คือการดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาลงทุนส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

กลับถูกมองว่า...“พ.ร.บ.อีอีซี” นี้ มีการเพิ่ม “สิทธิพิเศษ” เหนืออื่นใด...ให้กับ “นักลงทุน” ทั้งสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น 99 ปี สิทธิข้อยกเว้น หรือลดหย่อนภาษี สิทธิทำธุรกรรมทางการเงิน...

จนเกิดเวที “อีอีซี : ทุจริตเชิงนโยบายและวางผังเมืองผิดๆอย่างไร” เสนอแนะข้อดี-ข้อเสีย ผ่าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า การดึงดูดการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนมากมายขนาดนี้ก็ได้

เริ่มจาก ม.35...ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมให้ผู้ซึ่งทําธุรกรรมกับสำนักงานในกิจการเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ แต่คนไทยกลับยังต้องเสียค่าธรรมเนียมนี้ จนถูกมองว่า...เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่เป็นการยกให้อยู่เหนือกว่าคนไทย เช่นนี้อาจเสียเปรียบต่างชาติได้...

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย

หนำซ้ำ ม.39...กลับมีการประกาศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่อาจรวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ ส่งผลให้ต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว และการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดด้วยก็ได้

ส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการพูดๆกันนั้น...อาจเข้ามาลงทุนน้อย...หรืออาจไม่มีมาเลยด้วยซ้ำ หรือนี่คือ “การหมกเม็ด” ที่เป็นข้ออ้างหาทางให้ต่างชาติมาทำลายอุตสาหกรรมไทย

แม้แต่การ “เช่าที่ดิน” ยังเปิดโอกาสให้ต่างชาติทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้โดยการเช่าที่ดินยาวถึง 99 ปี สามารถนำเอาไปให้เช่าช่วงได้ เพราะยกเว้น ม.540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ม.5 ตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ที่ให้ต่างชาติเช่าพื้นที่ลงทุนได้ 30 ปี และต่อระยะเวลาเช่าได้อีกไม่เกิน 50 ปี...

และให้นำความตาม ม.52 มาบังคับใช้การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วง ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบปี ในการต่อสัญญาเช่า อาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้

ยิ่งกว่านั้นยังสามารถปล่อยให้เช่าช่วงได้อีก หากนักลงทุนต่างชาติไม่ใช้ที่ดินแล้ว...อีกทั้งที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่เกษตรกรไม่ใช้ทำเกษตร ก็ต้องถูกเรียกคืน และอาจนำมาใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การปล่อยให้เช่าที่ดินนานเกิน 30 ปี อาจทำให้ประเทศเกิดความไม่คุ้มค่า เพราะปล่อยให้ต่างชาติมีสิทธิใช้ที่ดินไทยนานไป...

อีกทั้งผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยังได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมด สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้า หรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

นั่นหมายความว่า...ต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของประเทศตัวเองได้ ในอนาคตชาวกัมพูชาสามารถนำเงินเรียลกัมพูชามาซื้อสินค้าในเขตอีอีซี ซึ่งอาจมีปัญหาตามมา...

ทว่า...ม.59 ระบุเปิดโอกาสให้นักวิชาชีพคนใดที่ได้รับการรับรองจากประเทศต้นทางของตัวเองมาแล้ว “ให้ได้รับสิทธิพิเศษอื่นใด” สามารถเข้ามาทำงานในเขตอีอีซีได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นนายหน้า แพทย์ สถาปนิก วิศวกร พยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพสงวนให้กับคนไทย ที่ไม่มีประเทศใดอนุญาตให้สิทธิเรื่องนี้กัน

เพราะหากนายหน้าคนไทยไปเปิดบูธขายบ้านในประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่ขออนุญาต ต้องถูกปรับเป็นเงิน 25,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือราว 625,000 บาท อาจต้องจำคุกนับปีด้วยซ้ำ แต่ประเทศไทยกลับปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพได้อย่างกว้างขวางไม่มีข้อจำกัดที่เป็นการแย่งอาชีพสงวนนี้

ประเด็นน่าจับตา...“เขตเศรษฐกิจพิเศษ” กินพื้นที่ขนาดเท่าโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติ ถูกประกาศ 3 จังหวัด แต่กลับไม่มีโครงสร้างแบบผังเมือง ในอนาคตมีความเป็นไปได้อาจประกาศเพียง 6-7 จังหวัด ในพื้นที่สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด รวมถึงนครนายกด้วยซ้ำ

เมื่อกล่าวถึง “อีอีซี” ย่อมต้องมาพูดถึง “รถไฟความเร็วสูง” ในยุคสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดโครงการเชื่อมรถไฟในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง มีวัตถุประสงค์ขนถ่ายสินค้า แต่ยุคนี้กลับนำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับสนามบินอู่ตะเภา ที่มีความจำเป็นน้อย

ในต่างประเทศยกตัวอย่าง...สนามบินในนิวยอร์ก 2 แห่ง คือนิวยอร์ก จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (JFK) และนิวยอร์ก ลา การ์เดีย (LGA) แต่ไม่มีการเชื่อมโดยตรง

มองว่าการเชื่อมรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินในประเทศไทย อาจไม่สอดคล้องความเป็นจริง ทั้งที่จริงแล้ว...ควรพัฒนารถไฟที่จำเป็นในภาคการขนถ่ายสินค้า จะมีความเหมาะสมคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า...

ไม่กี่วันมานี้...มีข่าวว่า ครม.คลอดผังเมืองใหม่ “อีอีซี” แบ่งพื้นที่ 4 ประเภท พร้อมยกเลิกผังเมืองเดิม ในด้านหนึ่งก็มีข่าว “นายทุน” กว้านซื้อที่นาจากชาวบ้านใน 2 อำเภอ ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา มีการซื้อราคาประมาณ 1 ล้านบาทต่อไร่ ในพื้นที่นี้สามารถเชื่อม “อีอีซี” ได้สะดวก

สำหรับการวางผังเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลต้องกำหนดพื้นที่ไว้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์กับแผนและผังอื่นๆ รวมถึงกำหนดพื้นที่เวนคืนชัดเจน ที่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล และในบริเวณนั้นก็จะต้องจัดให้มีการประมูล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

มีการกำหนดผังเมืองใหม่ทั้งหมด ก่อนประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้วยซ้ำ ไม่ใช่ปล่อยให้ “นายทุน” ไปกว้านซื้อตามชอบใจ และดำเนินการกันเองล่วงหน้า...มีลักษณะแบบเลี่ยงไม่ให้มีการประมูลแล้วค่อยมาบรรจุลงไปในผังเมืองใหม่

จนถูกมองว่า...การกระทำเช่นนี้เกิดความไม่ถูกต้อง อย่างนี้อาจจะเป็นการเอื้อนายทุน เอื้อต่างชาติ โดยคนไทยแทบไม่ได้อะไรหรือไม่...

แม้ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า พื้นที่ใดคือพื้นที่อุตสาหกรรม หรือพื้นที่ใด...เป็นเขตสีเขียว แต่มีการยกเลิกผังเมืองเก่าไว้ก่อน ซึ่งเคยทำกันมามีขั้นตอนกระบวนการไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงได้เป็นผังเมืองที่สมบูรณ์

เรื่องสำคัญการสร้างเมืองใหม่ที่ยังเป็นปริศนา ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่รู้คือปล่อยทิ้งร้างโครงการเดิมที่เคยลงทุนไปแล้ว เมืองเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด...ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา กาญจนบุรี เชียงราย หนองคาย นครพนม นราธิวาส หันมาทุ่มลงทุนอีอีซีแทน

สิ่งที่น่าคิดอีกมุมในเมืองใหม่นี้ ในอนาคตนักธุรกิจจีนที่มาพร้อมกับการอพยพของชาวจีน อาจเข้ามาเช่าที่ดิน และซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ต้องเสียภาษี แถมใช้เงินตราต่างประเทศได้โดยไม่ต้องใช้เงินบาท ถือว่ามีเขตเช่าอาณานิคมจีนบนแผ่นดินไทยแน่นอน ที่คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเกิดขึ้น

เรื่องนี้คงต้องมองกันในระดับอนาคต...“หากคิดไม่ดี...วางแผนไม่ถูก” มีโอกาสเสียมากกว่าได้รับประโยชน์แน่นอน...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ