สังคมเปลี่ยน คนไทยเกิดน้อยตายช้า ท้าทายรัฐบาลรับมือผู้สูงอายุพึ่งพิงวัยแรงงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สังคมเปลี่ยน คนไทยเกิดน้อยตายช้า ท้าทายรัฐบาลรับมือผู้สูงอายุพึ่งพิงวัยแรงงาน

Date Time: 20 ม.ค. 2563 06:01 น.

Summary

  • ในปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือที่ 13 ล้านคน

Latest

“พิชัย”หวังดึงทัพลงทุนญี่ปุ่นกลับไทย  โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีฟอรั่มใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือที่ 13 ล้านคน

ประเทศไทยจึงตื่นตัวเตรียมความพร้อมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืน ที่ตอนนี้ก็มีหลายๆบริษัท ได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้กับ ลูกจ้าง

ในส่วนของรัฐบาลเคยมีข่าวว่าจะยืดการเกษียณอายุของข้าราชการจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ตอนนี้ยังเงียบๆอยู่ไม่มีความคืบหน้า

สิ่งที่เห็นเป็นภาพใหญ่ๆ คือแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุและกลุ่มผู้สูงอายุ

ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ โครงการส่งเสริมการออมพร้อมสู่สูงวัย โครงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ โครงการส่งเสริมความรู้และเข้าถึงดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ เพื่อการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและรายได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) ได้เสนอรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583

เป็นที่ฮือฮากันมาก เพราะรายงานฉบับนี้ชำแหละให้เห็นว่า ในอนาคตข้างหน้า เด็กไทยมีแนวโน้มเกิดน้อยลง คนสูงอายุก็อายุยืนมากขึ้น และเพศหญิงจะอายุยืนกว่าเพศชายเข้าไปอีก

ที่สำคัญอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลอย่างมาก ว่าจะพัฒนาประเทศไทยท่ามกลางโครงสร้างประชากรในรูปแบบนี้ได้อย่างไร?

คนไทยหยุดเพิ่มหลังปี 2571

ในรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 พบว่า ประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 ไปสูงสุดที่ 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะเริ่มติดลบในอัตรา 0.2% ต่อปี และคาดว่าในปี 2583 จะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน

ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรวัยเด็กอยู่ที่ 11.2 ล้านคน หรือ 16.9% ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือ 12.8% ในปี 2583

สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ 18% เพิ่มขึ้นเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ในปี 2583

และจะเห็นได้ว่า ในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กจะมีจำนวนน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับจำนวนประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน หรือ 65% ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน หรือ 56% ในปี 2583

ทำให้อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583

ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583

ทางด้านอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า

คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไป โดยจะมีเพศชายที่อายุ 80 ปีขึ้นไป 41 คน ต่อเพศหญิง 100 คน

ส่วนทางด้านโครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาค ในปี 2583 กรุงเทพฯมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ ประชากรที่อาศัยในเขตเมืองมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจาก 38 ล้านคน หรือ 57.2% ในปี 2563 เป็น 48.6 ล้านคน หรือ 74.3% ของประชากรทั้งหมดในปี 2583 โดยภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด 5.3% ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เพิ่มพลังผู้สูงอายุให้มีค่า

สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 1.ทางด้านสังคม พบว่า การตายที่ลดลงอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นและการเกิดที่ลดลงส่งผลให้ประชากรมีการเพิ่มที่ช้าลง และโครงสร้างอายุเปลี่ยนแปลงจากประชากรที่มีอายุน้อยเป็นประชากรสูงวัยที่มีอายุมากขึ้น

จึงมีข้อเสนอแนะ ควรทำให้ผู้สูงอายุเป็นประชากรที่มีพลังและมีคุณค่าในสังคมให้นานที่สุด

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างระบบการดูแลระยะยาวในชุมชน มีนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ มีการเร่งพัฒนาระบบบำนาญระบบการออม และระบบสวัสดิการสังคมที่มีประสิทธิภาพ โดยการให้สวัสดิการและความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่จำเป็นด้วยรูปแบบและจำนวนเงินที่เหมาะสม

2.ด้านเศรษฐกิจและกำลังแรงงาน มีการประเมินความต้องการกำลังแรงงานในอนาคตคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2580 ความต้องการแรงงานโดยรวมของประเทศมีทั้งสิ้น 44.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.2 ล้านคนจากปี 2560 โดยภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการแรงงานในภาคเกษตรกัลป์มีแนวโน้มลดลง

จึงมีข้อเสนอแนะให้เน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานมากกว่าการหาแรงงานมาทดแทนส่วนที่ขาดแคลน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพของประชากรวัยเรียน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาเร่งยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากลรวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานทักษะต่ำและงานบางประเภท

มุ่งเน้นดูแลสุขภาพอนามัย

3.การศึกษา พบว่าจำนวนประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 21 ปี มีจำนวน 15.2 ล้านคนในปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 11.6 ล้านคนในปี 2583 ในระดับการศึกษาสายสามัญประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและปริญญาตรี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการเรียนในสายอาชีพ

ดังนั้น จึงควรพิจารณาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางการศึกษา และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและเปิดโอกาสให้ประชากรทุกช่วงวัยเข้าเรียน เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

4.ด้านสุขภาพอนามัย พบว่าแบบแผนการตายในภาพรวม และการตายตามกลุ่มอายุ พบว่า การตายจากโรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่มโรค คือ หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราเพิ่มขึ้น

จึงควรคำนึงถึงการกระจายบริหารสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกช่วงวัย ในวัยเด็กเน้นการได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามกำหนด วัยแรงงานเน้นการคัดกรองความเสี่ยง ทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด อีกทั้งวัยผู้สูงอายุต้องให้ความสำคัญกับการให้วัคซีน การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อโรคสำคัญ 4 กลุ่มโรค และโรคทางจิต

5.ด้านสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ว่า ในปี 2583 จะมีประชากรอาศัยในเขตเมืองประมาณ 48.6 ล้านคน และมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมือง เช่น การเกิดชุมชนแออัดจำนวนมาก การเพิ่มขึ้นของระดับฝุ่น PM 2.5 ปัญหาขยะมูลฝอยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การป้องกัน ควบคุม และจำกัดมลภาวะด้านต่างๆ การจัดการให้คนย้ายถิ่นมีโอกาส เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจและใกล้แหล่งงาน การปรับปรุงมาตรฐานของการวัดระดับมลพิษให้เป็นไปตามระดับสากล และควรบรรจุหลักสูตรที่มุ่งสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา

มอก.สินค้าสำหรับผู้สูงวัย

เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะต้องมีมาตรฐานด้วย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าสำหรับกลุ่มสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นการเฉพาะ

เช่น กุญแจลูกบิดที่มีขั้นตอนการเปิดปิดล็อกแบบง่ายๆ โถปัสสาวะ ราวบันไดทางลาดชัน รถเข็นหรือวีลแชร์ ที่ต้องมีการออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายๆ แม้อยู่เพียงลำพัง รวมไปถึงอุปกรณ์การหาค่าสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ช่วยการลดมลพิษทางอากาศ พีเอ็ม 2.5

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมในการผลิต เช่น เครื่องปูวัสดุผิวทาง เพื่อจำแนกชนิดของพื้นผิวบนฟุตปาท เพื่อให้คนพิการแยกแยะได้สะดวกมากขึ้นจากปัจจุบันและวัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่นแม้ต้องเผชิญกับสภาพฝนตกหรือน้ำหกเปื้อนทางเดิน

เครื่องฉีดพ่นยางมะตอย ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานปรับปรุงสภาพที่พักอาศัยได้ด้วยตนเอง อุปกรณ์ปูวัสดุซ่อมผิวทางลาดยาง ขณะที่ในประเภทของสมุนไพร เพื่อการบริโภคหรือใช้ทาภายนอกกับผิวหนัง ที่ต้องปลอดสารปนเปื้อน เช่น สารสกัดอัญชัน สารสกัดบัวบก และสารสกัดกระชายดำผง

รวมทั้งสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย เช่น ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ ฟิล์มพลาสติกสำหรับยืดอายุพืชสด ท่อพลาสติกน้ำหยดสำหรับงานเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้รับการร้องขอให้เพิ่มเติมสินค้าเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ จากผู้สูงอายุและผู้พิการและเด็ก ตามมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อปี 2560 เช่น ในกลุ่มเครื่องเล่นสนามสาธารณะที่ผู้สูงอายุและเด็ก ตามชุมชนนิยมมาใช้บริการเพื่อบริหารร่างกาย ที่เหยียบเท้าสลับไปมา ม้าหมุน เครื่องโยกแบบสปริง และกระดานหก

ล่าสุด สมอ.ได้เร่งพิจารณาเพื่อเตรียมออกประกาศ มอก. ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการก่ออันตราย และผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน การสัมผัส การเล่น หรือการนำเข้าปากอีกด้วย

*******************

เมื่อสังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีหน้า

คนไทยเริ่มเกิดน้อย ตายช้า จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบตัว โครงสร้างทางสังคมและความคิดที่เปลี่ยนไปจากการมีลูกน้อยลง มีค่านิยมที่ชอบอยู่เป็นโสด และการบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น

จนทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เหมือนดังเช่นอีกหลายประเทศในโลกนี้ที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี

สิ่งที่รัฐและคนในชาติต้องทำก่อนคือการตั้งสติ เตรียมการรับมือให้พร้อม ด้วยแผนปฏิบัติการต่างๆครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุและกลุ่มผู้สูงอายุ

พร้อมลบภาพมายาคติในใจที่ว่า “ผู้สูงอายุ” เป็น “ภาระ” ของสังคม เพราะที่จริงแล้วในทุกวันนี้ ด้วยระบบสาธารณสุขที่ดี ทำให้ผู้สูงอายุยังมีเรี่ยวแรง สุขภาพที่ดี มีความกระปรี้กระเปร่า

ที่สำคัญ ยังเปี่ยมด้วยประสบการณ์อันล้นเหลือ ซึ่งน่าจะเป็นคุณูปการสำคัญ

อันช่วยให้สังคมไทยรุดหน้าได้ต่อไป!!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ