โดนสารพัดปัจจัยรุมลดเป้า "จีพีดี" ปี 63

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โดนสารพัดปัจจัยรุมลดเป้า "จีพีดี" ปี 63

Date Time: 11 ม.ค. 2563 06:10 น.

Summary

  • เศรษฐกิจไทยประสบกับปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเดิม ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า, เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ อิหร่าน ที่อาจก่อเป็นสงครามในอนาคต, ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ม.ค.63 ทางศูนย์จะประกาศปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 63 ใหม่ (จีดีพี)

จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% หลังได้รับข้อมูลจากหอการค้าทั่วประเทศว่า เศรษฐกิจไทยประสบกับปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเดิม ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า, เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ อิหร่าน ที่อาจก่อเป็นสงครามในอนาคต, ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ, ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวไปถึงเดือน พ.ค.นี้ จนกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร เป็นต้น

สำหรับผลกระทบจากภัยแล้งนั้นคาดการณ์ว่าจะเกิดความเสียหาย 8,000-10,000 ล้านบาท และทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลง 0.03% ส่วนใหญ่จะเป็นภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังที่จะเสียหาย 3 ล้านไร่ หรือข้าวเปลือกเสียหายไป 1.5 ล้านตัน แต่ศูนย์คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร ส่วนภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะอุตสาหกรรมหลายแห่งได้เตรียมแผนรับมือแล้ว โดยเฉพาะภาคตะวันออก

ส่วนความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีก 1 เดือน จึงจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น แต่หากราคาน้ำมันสูงขึ้นก็จะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเฉลี่ย 2,100 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้จึงมีแนวโน้มที่กระทรวงพลังงานเตรียมออกมาตรการตรึงราคาพลังงาน เพราะจะบั่นทอนเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่ค่าเงินบาท หากอยู่ที่ระดับ 30.50-31.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จะมีความเหมาะสม หากอ่อนค่ามากเกินไปจะทำให้ราคานำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ดัชนีฯปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยของเดือน ธ.ค.62 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ 68.3 ลดจาก 69.1 ในเดือน พ.ย.62 ถือเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.57 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 78.1 ลดจาก 79.6 ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 45.8 เพิ่มขึ้น 45.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ