ต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี 63 จะเกิดวิกฤติเผาจริงหรือไม่ จนแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ยิ่งล่าสุดเกิดความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งสังหารนายพลคาเซม โซไลมานี่ บุคคลสำคัญของอิหร่าน อาจจุดชนวนสงครามในตะวันออกกลาง มีผลต่อค่าเงินบาท ตลาดหุ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันจะปรับขึ้นสูงมากกว่า 20% หากสงครามลุกลามรุนแรง
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโตเพียง 3% จากสงครามทางการค้าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกล่าสุด เกิดจากความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ซึ่งการขยายวงของวิกฤติการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะกดดันให้ราคาน้ำมันและพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นไปแล้วกว่า 4% แตะระดับสูงสุดนับแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว
"หากอิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน หรือโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ จะทำให้มีผลกระทบต่ออุปทานของน้ำมันดิบในเอเชียเนื่องจาก 80% ผ่านช่องทางนี้เพื่อขนส่งมายังเอเชีย มีน้ำมันดิบประมาณ 22.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านช่องแคบนี้ และทางด้านผู้นำสหรัฐฯ ประกาศพร้อมโจมตีตอบโต้ 52 เป้าหมายสำคัญในอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากระดับราคาปัจจุบัน รวมถึงราคาทองคำและดอลลาร์แข็งค่าปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้นักลงทุนมีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำมากขึ้น"
ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมาก และยังมีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ “เผาจริง” แต่อย่างใดหรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนานอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษา การแพร่กระจายของการคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม
นอกจากนี้ยังไม่สามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชันได้อย่างเท่าทัน ทั้งในส่วนของกิจการและธุรกิจต่างๆ ตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ในปีนี้ จากอัตราการขยายตัวจีดีพีโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 6%
"เศรษฐกิจไทย อาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว ซึ่งการเร่งรัดในการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงมีความสำคัญ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.9% เป็นกรอบการคาดการณ์ด้านสูงของศูนย์วิจัยฯ มีความเป็นไปได้"
ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำมีความเป็นไปได้มากกว่า ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 2% จากปัจจัยลบ 1.วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ จากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การขาดระบบนิติธรรมและการขาดความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งการสร้างกระแสเกลียดชังกันครั้งใหม่ด้วยการปลุกกระแส “ชังชาติ” ขึ้นมา หรือการให้ร้ายป้ายสีโดยไม่มีข้อเท็จจริง จะกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างยากที่จะคาดเดาได้
2.สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ลุกลามจนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20% จากระดับปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรก กระทบต่อเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง กระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมจากการพึ่งพาน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง 3.ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทย อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดแบบเดียวกับโรคซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวในไทยดีเท่าที่ควร ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดอาจไม่มีประสิทธิภาพ
4.ผลกระทบภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม จนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1% ทั้งปี โดยไตรมาสสองอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตอาจติดลบมากกว่า -1.5% ขณะที่ราคาผลผลิตบางส่วนจะปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภาวะแห้งขอด และเป็นวิกฤติหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่ได้เน้นการสร้างงานสร้างรายได้ แต่เน้นการแจกเงินทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม จะสร้างปัญหาฐานะทางการคลังในระยะต่อไป การกระตุ้นภาคการบริโภคติดข้อจำกัดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแตะ 80% ของจีดีพี ขณะที่การกระตุ้นภาคการลงทุนอาจได้ผลบ้าง เนื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับ 70-80% และจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม
ทั้งนี้ต้องจับตาการอนุมัติงบประมาณปี 2563 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนม.ค., การประมูล 5G, การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ในเดือนก.พ., สถานการณ์เลิกจ้างยังเกิดอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกและไตรมาสสองปีนี้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมี.ค. เป็นต้น ส่วนเหตุการณ์หรือปัจจัยในต่างประเทศ ได้แก่ การเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯกับจีน 15 ม.ค. เส้นตาย Brexit เดือนมกราคม การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จีนช่วงครึ่งปีหลัง การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เดือน ก.ค. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือน พ.ย. เป็นต้น
ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดการเงิน จะยังคงได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่มีอยู่สูง โดยค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูงอาจแข็งค่าอีกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรก และอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าได้หลังจากนี้ จากภาวะเงินทุนระยะสั้นไหลออก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามในอ่าวเปอร์เซีย ดุลการค้าที่เกินดุลลดลงและอาจเริ่มขาดดุลหลังจากเกินดุลมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29-31 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรก 30.50-31.50 ในไตรมาสสอง 29.50-30.50 ในไตรมาสสาม และ 31-32 ในไตรมาสสี่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "ทรัมป์" สั่งฆ่านายพลอิหร่าน สงครามเกิดแน่ ก่อการร้ายข้ามชาติรุนแรง