คาดปี 64 ใช้กฎหมายอีบิสซิเนส รีดภาษีต่างชาติ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 63 กรมสรรพากรจะเร่งผลักดันกฎหมายอีบิสซิเนส (e-Business) เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาเสร็จสิ้นในปี 63 เพื่อเสนอ ครม. และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายอีบิสซิเนสจะเริ่มบังคับใช้ได้ปี 64 และระยะแรกคาดว่าจะเก็บเงินจากผู้ประกอบการต่างชาติได้ 4,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโตมาก บริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนผู้ประกอบการไทย โดยขณะนี้กรมสรรพากรกำลังแก้กฎหมาย เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยน ข้อมูลกับสรรพากรในต่างประเทศได้ เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทต่างชาติ”
ทั้งนี้ จากการหารือกับหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ พบว่า บางประเทศหากต่างชาติไม่ยอมเสียภาษี จะมีรูปแบบการลงโทษ เช่น ปิดเว็บไซต์ แต่ในไทยอยู่เกินอำนาจของกรมสรรพากร ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้ามาช่วยดูว่าจะทำได้หรือไม่ หากผู้ประกอบการต่างชาติไม่ยอมเสียภาษี
นอกจากนี้ ปี 63 กรมจะดึงกลุ่มนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และกลุ่มค้าออนไลน์ที่อยู่นอกระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาให้ได้ 11 ล้านคน จากปีงบ 62 มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี 10.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มายื่นแบบ 10 ล้านคน โดยกรมได้ตั้งกองสำรวจคนที่อยู่นอกระบบ และตรวจสอบกลุ่มค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบ ที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์เพื่อขายสินค้า โดยใช้ web scraping ซึ่งเป็นระบบที่ดึงข้อมูลจากออนไลน์มาวิเคราะห์ตรวจสอบได้ ซึ่งปีก่อนสามารถสแกนและดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษีได้ถึง 100,000 ราย เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 170,000 ราย
ทั้งนี้ ผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนแวต และยื่นเสียภาษีรายได้ หากพบว่าทำไม่ถูกต้อง จะเข้าไปให้คำแนะนำถึงแนวทางเสียภาษีอย่างถูกต้อง ขณะที่การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศมูลค่า 1,500 บาทตามกฎหมายกรมศุลกากรนั้น คาดว่าจะยกเลิกได้ในปี 63 ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์ทุกชิ้นจะต้องถูกเก็บภาษี.