น.ส.ปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกรายงาน SET Note โดยจัดอันดับขนาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก เพื่อบันทึกเป็นสถิติ ติดตามการเปลี่ยนแปลงในปีต่อๆไป โดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเกณฑ์จัดอันดับ
พบว่า 27 กลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นไทยมีขนาดใหญ่ติดอันดับท็อป 10 ของโลกอยู่ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มสนามบิน กลุ่มการแพทย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ดังนี้ หุ้นของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีมูลค่ามาร์เกตแคปใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มสนามบิน, บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ บีเอ็นเอช สมิติเวช พญาไทและเปาโล มีมูลค่ามาร์เกตแคปใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในกลุ่มการแพทย์, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีมูลค่ามาร์เกตแคปใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
“บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล ติดอันดับที่ 11 ในหุ้นกลุ่มสินเชื่อบุคคล, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ติดอันดับที่ 14 ของหุ้นโลกในกลุ่มโรงแรม, บมจ.ปตท.ติดอันดับที่ 27 ของหุ้นโลกในกลุ่มพลังงาน, บมจ.ซีพีออล ติดอันดับที่ 31 ในกลุ่มค้าปลีก, บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ติดอันดับที่ 36 ของหุ้นโลกในกลุ่มร้านอาหาร, บมจ.เซ็นทรัล พัฒนา ติดอันดับที่ 41 ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล ติดอันดับที่ 58 ในกลุ่มปิโตรเคมี ฯลฯ
ทั้งนี้ ในระดับอาเซียน หุ้นไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดใน 7 อุตสาหกรรมอาทิ กลุ่มสนามบิน กลุ่มพลังงาน และด้วยจำนวนหุ้นที่แตกต่างกัน แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จึงคำนวณอันดับของหุ้นไทยเทียบกับจำนวนหุ้นทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า หุ้นไทยใหญ่ติดอันดับ top decile หรือ อยู่ในกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10% แรกใน 17 กลุ่มอุตสาหกรรม.